ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: นพ.บุญชัย นวมงคลวัฒนา และคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: ผลการบำบัดผู้ใช้ยาเสพติดในรูปแบบจิตสังคมบำบัดของโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 3, 25-27 สิงหาคม 2547 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพฯ, หน้า 367-368.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ปัญหายาเสพติดยังคงส่งผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และทรัพยากรบุคคลทำให้ไร้คุณภาพ รัฐบาลจึงประกาศให้ยาเสพติดเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขอย่างจริงจัง ในปี 2544 โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ได้นำรูปแบบจิตสังคมบำบัด (Psychosocial Intervention) ที่บูรณาการมาจากการปรับความคิดทางบวก Matrix Program และองค์ความรู้ด้านจิตสังคมบำบัดต่างๆ มาทำการบำบัดรักษากับผู้ใช้ยาเสพติดที่มารับบริการแบบผู้ป่วยนอก ในการดำเนินงานตามรูปแบบดังกล่าวยังไม่มีการศึกษาถึงผลการบำบัด ดังนั้นโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์จึงทำการศึกษาผลของการบำบัดผู้ใช้ยาเสพติดในรูปแบบจิตสังคมบำบัดของโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ เพื่อนำมาพัฒนารูปแบบการรักษาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น วัตถุประสงค์ เพื่อทราบผลการบำบัดผู้ใช้เสพยาเสพติดในรูปแบบจิตสังคมบำบัดของโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ ผลการวิจัย กลุ่มตัวอย่าง มีทั้งหมดจำนวน 65 ราย ซึ่งแบ่งเป็นผู้เสพ 37 คน และผู้ติด 28 คน และเมื่อแบ่งเป็น 5 กลุ่มคือ สิ้นสุดโครงการ 11 ราย Drop out 17 ราย ระหว่างติดตาม 33 ราย และระหว่างการบำบัด 4 ราย สามารถติดตามเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์ได้ 36 ราย เป็นเพศชาย จำนวน 32 ราย คิดเป็นร้อยละ 88.9 เพศหญิง 4 ราย อยู่ในช่วงวัยหนุ่มสาว (อายุ 16-29 ปี) เป็นโสด ร้อยละ 91.7 อาศัยอยู่กับผู้ปกครอง ร้อยละ 77.8 มีอาชีพรับจ้างทั่วไป ร้อยละ 38.9 เริ่มเสพติดยาเสพติดครั้งแรกเมื่ออายุ 12 ปี สาเหตุคือ อยากทดลอง ร้อยละ 27.8 ใช้วิธีการสูบร้อยละ 94.4 โดยสถานะของผู้รับการบำบัด ส่วนใหญ่อยู่ระหว่างติดตามผลการบำบัดรักษา ร้อยละ 52.8 ซึ่งหลังจากติดตามพบว่า ผู้รับการบำบัดไม่ได้กลับไปใช้ยาบ้าและสารเสพติดผิดกฎหมายอื่นๆ ยกเว้นสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่กลับไปใช้ร้อยละ 76.7 เมื่อประเมินความพึงพอใจของผู้รับบริการในคลินิกจิตสังคมบำบัด ส่วนใหญ่มีระดับความพึงพอใจในระดับมาก และเมื่อใช้เครื่องมือชี้วัดคุณภาพชีวิต พบประเด็นที่สำคัญคือ ด้านสุขภาพกายมีคุณภาพชีวิตกลางๆ ร้อยละ 69.6 ด้านจิตใจมีคุณภาพชีวิตกลางๆ ร้อยละ 61.3 ด้านสัมพันธภาพทางสังคมมีคุณภาพชีวิตกลางๆ ร้อยละ 55.5 และด้านสิ่งแวดล้อม มีคุณภาพชีวิตที่ดี ร้อยละ 55.6 โดยภาพรวมของกลุ่มตัวอย่างแสดงถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดีร้อยละ 52.8

Keywords: ยาเสพติด, สารเสพติด, จิตสังคมบำบัด, ผู้ป่วยนอก, จิตสังคม, matrix program, psychosocial intervention, drug abuse, substance dependence

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ กรมสุขภาพจิต

Code: 20040000130

ISSN/ISBN: -

Country of publication: Thailand.

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตประจำปี 2547

Download: -