ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สุพัตรา สกุลพันธุ์ และคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: การประเมินผลโครงการสัมมนาเครือข่ายวิกฤตสุขภาพจิตและจิตเวชฉุกเฉิน

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 3, 25-27 สิงหาคม 2547 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพฯ, หน้า 372-373.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล การประเมินผลโครงการฝึกอบรมเป็นขั้นตอนที่จะต้องกระทำเป็นกระบวนการอย่างต่อเนื่อง เป็นการตีความหมาย และการตัดสินคุณค่าของการฝึกอบรม การวัดผลการประเมินต้องอาศัยวิธีการที่เป็นระบบ มีแบบแผนในการรวบรวมข้อมูล ตลอดจนให้เหตุผลประกอบการพิจารณาตัดสินใจว่ากิจกรรมที่ดำเนินการนั้นดีหรือไม่ เหมาะสมหรือไม่ ในปีงบประมาณ 2547 สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ได้รับมอบหมายจากกรมสุขภาพจิตให้ดำเนินโครงการพัฒนาเครือข่ายผู้ประสบภาวะวิกฤตทางใจ ในการนี้ได้จัดสัมมนาเครือข่ายศูนย์วิกฤตสุขภาพจิตและจิตเวชฉุกเฉินขึ้น เพื่อให้ผู้ร่วมสัมมนามีแนวทางที่ชัดเจนในการจัดตั้งศูนย์วิกฤตสุขภาพจิตและจิตเวชฉุกเฉินขึ้นในพื้นที่ของตน เพื่อให้การฝึกอบรมตามโครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ จึงจัดให้มีการประเมินผลการสัมมนาครั้งนื้ เพื่อศึกษาว่าเกิดผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการมากน้อยเพียงใด สามารถนำไปเสริมคุณประโยชน์ เพื่อก่อให้เกิดความคุ้มค่าที่ควรจะได้รับจากการสัมมนาในครั้งนี้ รวมทั้งนำผลการวิจัยที่ได้เป็นข้อมูลในการปรับปรุง และพัฒนาโครงการให้มีประสิทธิภาพยิ่งๆ ขึ้นไป ขอบเขตการวิจัย ประชากรที่ศึกษา คือ ผู้เข้าร่วมโครงการสัมมนาเครือข่ายศูนย์วิกฤติสุขภาพจิตและจิตเวชฉุกเฉิน ระหว่างวันที่ 3-4 ธันวาคม 2546 รวมทั้งสิ้น 161 คน ระเบียบวิธีวิจัย ใช้ประชากรทั้งหมดเป็นกลุ่มตัวอย่าง โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามทันที่จบการสัมมนา จำนวน 116 คน (72.04%) และตอบแบบสอบถามหลังผ่านการสัมมนา 3 เดือน จำนวน 86 คน (53.41%) สรุปผลการวิจัย จากการศึกษาพบว่าผู้เข้าร่วมสัมมนาส่วนใหญ่ร้อยละ 55.2 ปฏิบัติงานในโรงเพยาบาลทั่วไป ร้อยละ 76.7 เป็นพยาบาลวิชาชีพ ร้อยละ 75.0 เป็นผู้รับผิดชอบงานด้านสุขภาพจิตและจิตเวช ผู้เข้าร่วมสัมมนามีความคิดเห็นในประเด็นความเหมาะสมของวิทยากรด้านความรู้ความเชี่ยวชาญ การมีโอกาสได้เข้าร่วมสัมมนา การสัมมนาเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงาน ความชัดเจนและเข้าใจง่ายในการตอบคำถามของวิทยากรและความเหมาะสมของสถานที่ อยู่ในระดับมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 44.8 39.6 29.3 และ 20.6 ตามลำดับ ผลการติดตามหลังผ่านการสัมมนา 3 เดือน ผู้ผ่านการสัมมนามีความรู้เกี่ยวกับวิกฤตสุขภาพจิต จิตเวชฉุกเฉิน และงานวิกฤตสุขภาพจิตมากขึ้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ p=.05 ผู้ผ่านการสัมมนาร้อยละ 80.5 มีโอกาสนำความรู้ที่ได้รับไปขยายผล โดยการเสนอแนวทางการจัดตั้งศูนย์วิกฤตสุขภาพจิตต่อผู้บริหาร ถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับให้บุคลากรในหน่วยงาน จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อจัดตั้งศูนย์วิกฤตหรือประสานผู้เกี่ยวข้อง สิ่งที่ผู้ผ่านการสัมมนาต้องการรับการสนับสนุนจากหน่วยงานเจ้าของโครงการ คือแนวทางการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายนอกโรงพยาบาล วิทยากรในการจัดอบรม เพิ่มความรู้บุคลากรที่เกี่ยวข้อง การนิเทศและติดตามประเมินผล และแนวทางในการจัดตั้งศูนย์วิกฤตสุขภาพจิต ในด้านการนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ พบว่า เป็นที่ยอมรับของเพื่อนร่วมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชาและผู้บังคับบัญชาระดับเหนือขึ้นไป ด้านต้นทุนของการจัดสัมมนา พบว่าค่าใช้จ่ายรวมโดยเฉลี่ย 974.78 บาทต่อคนต่อวัน จำแนกเป็นค่าใช้จ่ายด้านผู้จัดสัมมนาและค่าเสียโอกาสด้านต้นสังกัดของผู้เข้าร่วมสัมมนาเท่ากับ 474.48 และ 500 บาทต่อคนต่อวัน ตามลำดับ

Keywords: ิวิกฤตสุขภาพจิต, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, เครือข่ายศูนย์วิกฤตสุขภาพจิต, เครือข่าย, จิตเวชฉุกเฉิน, psychiatry

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต

Code: 20040000133

ISSN/ISBN: -

Country of publication: Thailand.

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตประจำปี 2547

Download: -