ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: นพ.บุญชัย นวมงคลวัฒนา และคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: การได้รับบาดเจ็บของผู้ป่วยในโรงพยาบาลจิตเวช

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 3, 25-27 สิงหาคม 2547 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพฯ, หน้า 380.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ในผู้ป่วยที่รับไว้รักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นภาวะซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียต่อทั้งผู้ป่วยและโรงพยาบาล โดยเฉพาะในโรงพยาบาลจิตเวชที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการงุนงงสับสนหรือมีพฤติกรรมก้าวร้าว ซึ่งเป็นสาเหตุของการบาดเจ็บหรือการเกิดอุบัติเหตุ การศึกษาข้อมูลและรายงานอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นพบประมาณร้อยละ 2-9.5 แตกต่างกันไปขึ้นกับประเภทของโรงพยาบาล ประเภทของผู้ป่วย มาตรการการดูแลรักษาพยาบาล ปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง เช่น การได้รับยาต้านอาการโรคจิตซึ่งมีผลข้างเคียงทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำทันทีทันใดเมื่อเปลี่ยนท่า ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยเสียการทรงตัวทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ผู้ป่วยหลังรักษาด้วยกระแสไฟฟ้า เป็นต้น วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาระบาดวิทยาของการบาดเจ็บหรือการเกิดอุบัติเหตุในโรงพยาบาลจิตเวช สรุปผลการวิจัย พบว่าอัตราการได้รับบาดเจ็บหรือการเกิดอุบัติหตุของผู้ป่วยในโรงพยาบาลจิตเวช 12 แห่ง อยู่ระหว่างร้อยละ 0.61-36.59 คิดเป็นภาพรวมร้อยละ 1.33 ของผู้ป่วยทั้งหมด โดยมีจำนวนผู้ป่วยที่รายงานการได้รับบาดเจ็บ 164 ราย เป็นเพศชายร้อยละ 65.85 มีอายุเฉลี่ย 40.89 ปี (SD=14.96, min=15 ปี, max=79 ปี) ระยะเวลาที่พบการบาดเจ็บหรือการเกิดอุบัติเหตุมักเกิดในเวรเช้าจำนวน 77 ราย (ร้อยละ 48.42) ผู้พบเหตุการณ์การบาดเจ็บหรือการเกิดอุบัติเหตุเป็นผู้ช่วยเหลือคนไข้ ร้อยละ 37.04 รองลงมาคือ พยาบาลวิชาชีพ พยาบาลเทคนิค และเจ้าหน้าที่พยาบาลตามลำดับ โดยจำแนกประเภทการบาดเจ็บที่สืบสวนได้ พบว่า การถูกกระแทกมีอุบัติการณ์สูงสุดร้อยละ 42.25 การพลัดตกจากที่สูง/ตกเตียง ร้อยละ 14.79 ลักษณะและอาการบาดเจ็บที่พบ 3 ลำดับแรก คือ บาดแผลเปิด (มีแผลฉีกขาด รอยสัตว์กัด การฉีกทะลุ) การบาดเจ็บที่ชั้นผิวหนังโดยไม่มีแผลเปิด และการเกิดกระดูกหัก คิดเป็นร้อยละ 40.70, 40.12 และ 4.65 ตามลำดับ ส่วนสาเหตุการบาดเจ็บที่สืบสวนได้ เรียงตามลำดับ 3 สาเหตุแรกที่สืบสวนได้ (จำนวน 119 รายจากทั้งหมด 164 ราย) คือ เกิดจากอาการทางจิตของผู้ป่วยอื่นที่มาทำร้าย อาการทางจิตของตนเอง และการเข้าร่วมกิจกรรมที่จัดให้ คิดเป็นร้อยละ 31.09, 29.12, 18.49 ตามลำดับ ความรุนแรงที่เกิดจากการบาดเจ็บหรือการเกิดอุบัติเหตุภายใน 24 ชั่วโมง เรียงตามลำดับคือ ไม่รุนแรง เป็นบาดแผลเปิดภายนอก (ร้อยละ 73.17) อวัยวะหัก (ร้อยละ 6.10) และต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยเร่งด่วน/ทำงานไม่ได้/มีความพิการ (ร้อยละ 3.05) เมื่อวิเคราะห์ด้วยตัวแปรเชิงซ้อนพบว่า ปัจจัยสำคัญที่มีความสัมพันธ์กับบาดเจ็บหรือการเกิดอุบัติเหตุในโรงพยาบาลจิตเวช ได้แก่ ผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านโรคจิตกลุ่มใหม่ๆ เสี่ยงต่อการบาดเจ็บหรือการเกิดอุบัติเหตุมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับเป็น 2.82 เท่า (95% CI=1.38-5.75) ผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เสี่ยงต่อการบาดเจ็บหรือการเกิดอุบัติเหตุมากกว่าผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตนเองได้เป็น 3.31 เท่า (95%CI=2.54-7.12) ผู้ป่วยที่ไม่ทราบประวัติการเจ็บป่วย/โรคประจำตัวเสี่ยงต่อการบาดโรคประจำตัวเป็น 3.54 เท่า (95%CI=2.35-5.33) ผู้ป่วยที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงชนิดหรือปริมาณยาเสี่ยงต่อการบาดเจ็บหรือการเกิดอุบัติเหตุมากกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงชนิดหรือปริมาณยาเป็น 2.94 เท่า (95%CI=1.77-4.89)

Keywords: จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, psychiatry

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ กรมสุขภาพจิต

Code: 20040000139

ISSN/ISBN: -

Country of publication: Thailand.

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตประจำปี 2547

Download: -