ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: นพ.บุญชัย นวมงคลวัฒนา และคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: ศึกษาจำนวนวันนอนเฉลี่ยของผู้ป่วยในโรงพยาบาลจิตเวช

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 3, 25-27 สิงหาคม 2547 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพฯ, หน้า 382-383.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าปัจจัยที่มีผลต่อจำนวนวันนอนในโรงพยาบาลของผู้ป่วยจิตเวช ได้แก่ 1) การวินิจฉัยทางจิตและการได้รับการรักษาเฉพาะ 2) การขาดการควบคุมและขาดการทบทวนในการวินิจฉัยโรค การรักษาด้วยยาแบบผู้ป่วยนอกการรับผู้ป่วยไว้รักษาแบบฉุกเฉิน ซึ่งมักไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วย 3) การตอบสนองต่อยาของอาการผิดปกติทางจิตเวช 4) ผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนและการรักษาด้วยยาไม่ได้ผลการรักษาที่ไม่ต่อเนื่อง 5) ปัจจัยส่วนบุคคล เช่น การวินิจฉัยโรค การยอมรับการรักษา การใช้สารเสพติด การอยู่รักษาอย่างต่อเนื่องซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีผลต่อจำนวนวันนอนในโรงพยาบาลทั้งสิ้น และการศึกษาผลที่ตามมาของช่วงระยะเวลาการนอนรักษาในโรงพยาบาล แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการลดจำนวนวันนอนในโรงพยาบาล และการเพิ่มจำนวนครั้งของการกลับมารักษาซ้ำ จะเห็นได้ว่าจำนวนวันนอนในโรงพยาบาลเป็นเครื่องชี้วัดคุณภาพและการประเมินผลการรักษาพยาบาล เมื่อจำนวนวันนอนในโรงพยาบาลมากย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของผู้ป่วยและครอบครัว ตลอดจนเศรษฐกิจโดยส่วนรวมของประเทศด้วย วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาจำนวนวันนอนเฉลี่ยและปัจจัยที่มีผลต่อจำนวนวันนอนเฉลี่ยของผู้ป่วยในโรงพยาบาลจิตเวช สรุปผลการวิจัย จำนวนวันนอนเฉลี่ยโดยรวมของผู้ป่วยในโรงพยาบาลจิตเวช 12 แห่ง มีค่าเฉลี่ย 92.31 วัน มัธยฐาน 23 วัน เมื่อจำแนกตามโรงพยาบาล พบว่า โรงพยาบาลที่มีจำนวนวันนอนเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ โรงพยาบาลศรีธัญญา โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์เท่ากับ 273.53,107.35, 87.57 วัน ตามลำดับ ส่วนโรงพยาบาลที่มีจำนวนวันนอนเฉลี่ยน้อยที่สุด ได้แก่โรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ เท่ากับ 16.90 วัน ผลการวิเคราะห์ด้วยตัวแปรเชิงซ้อน พบว่า ปัจจัยสำคัญที่มีความสัมพันธ์กับจำนวนวันนอนของผู้ป่วยในโรงพยาบาลจิตเวช ได้แก่ เพศ โดยเพศชายมีความสัมพันธ์กับจำนวนวันนอนมากกว่าเพศหญิงเป็น 1.66 เท่า (95%CI=1.48-1.86) สถานภาพสมรสโสดมีความสัมพันธ์กับจำนวนวันนอนมากกว่าสถานภาพสมรสคู่เป็น 2.00 เท่า (95%CI=1.76-2.29) ฐานะเศรษฐกิจของครอบครัวยากจนมีความสัมพันธ์กับจำนวนวันนอนมากกว่าพอมีพอกินแต่มีหนี้สินเป็น 1.52 เท่า (95%CI=1.33-1.73) อาชีพว่างงานมีความสัมพันธ์กับจำนวนวันนอนมากกว่ารับราชการ/รัฐวิสาหกิจเป็น 2.24 เท่า (95%CI=1.60-3.12) การไม่มีผู้ดูแลหลักมีความสัมพันธ์กับจำนวนวันนอนมากกว่ามีผู้ดูแลหลักเป็น 1.36 เท่า (95%CI=1.12-1.64) บทบาททางเศรษฐกิจของผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นผู้หารายได้มีความสัมพันธ์กับจำนวนวันนอนมากกว่าบทบาทเป็นผู้หารายได้หลักเป็น 1.51 เท่า (95%CI=1.24-1.83) การจ่ายค่ารักษาเองมีความสัมพันธ์กับจำนวนวันนอนมากกว่าการเบิกค่ารักษา/การใช้สิทธิบัตรเป็น 1.59 เท่า (95%CI=1.24-2.03) ความสามารถในการช่วยเหลือตนเอง โดยสามารถช่วยเหลือตนเองได้แต่ต้องมี ผู้กระตุ้นมีความสัมพันธ์กับจำนวนวันนอนมากกว่าการช่วยเหลือตนเองได้เป็น 1.18 เท่า (95%CI=1.00-1.38) การรับไว้รักษาครั้งรองมีความสัมพันธ์กับจำนวนวันนอนมากกว่าการรับไว้รักษาครั้งแรกเป็น 1.97 เท่า (95%CI=1.78-2.18) การรักษาพิเศษมีความสัมพันธ์กับจำนวนวันนอนมากกว่าการไม่มีการรักษาพิเศษเป็น 3.42 เท่า (95%CI=2.94-3.98) การเปลี่ยนแปลงการรักษามีความสัมพันธ์กับจำนวนวันนอนมากกว่าการไม่ได้เปลี่ยนแปลงการรักษาเป็น 1.75 เท่า (95%CI=1.57-1.96) ผู้ป่วยที่มีการวินิจฉัยโรคว่าเป็นจิตเภท พฤติกรรมแบบจิตเภทและความหลงผิด (F20-F29.9) มีความสัมพันธ์กับจำนวนวันนอนมากกว่าการวินิจฉัยโรคว่าเป็นอาการกังวล เครียด อาการทางกายที่เกิดจากจิตใจ (F40-F48.9) เป็น 1.99 เท่า (95%CI=1.73-2.29) การติดเชื้อขณะอยู่รับการรักษาในโรงพยาบาลมีความสัมพันธ์กับจำนวนวันนอน มากกว่าการไม่ได้ติดเชื้อขณะอยู่รับการรักษาในโรงพยาบาลเป็น 1.63 เท่า (95%CI=1.14-2.32)

Keywords: จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, psychiatry

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ กรมสุขภาพจิต

Code: 20040000140

ISSN/ISBN: -

Country of publication: Thailand.

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตประจำปี 2547

Download: -