ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สุรีรัตน์ โบจรัส

ชื่อเรื่อง/Title: การเสริมสร้างทักษะการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังชาย

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 3, 25-27 สิงหาคม 2547 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพฯ, หน้า 389-390.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล การเจ็บป่วยทางจิตส่วนใหญ่เป็นการเจ็บป่วยเรื้อรัง พยาธิสภาพของโรคจะทำลายภาวะสมดุลของการทำหน้าที่ทางจิตใจ ความคิด อารมณ์ ก่อให้เกิดความบกพร่อง และส่งผลกระทบต่อความสามารถในการดูแลตนเอง การทำกิจวัตรประจำวัน หน้าที่การงานและสังคม ทำให้มีพฤติกรรมแยกตนเองไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ไร้อารมณ์ (Apathy) อีกทั้งมีการกลับไปเป็นซ้ำบ่อยครั้ง เนื่องจากเมื่อกลับไปอยู่บ้าน ผู้ป่วยมักรับประทานยาไม่ต่อเนื่อง หรือกลับไปเสพยาเสพติด ซึ่งส่วนใหญ่มักจะแสดงออกด้วยพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง ทำลายสิ่งของและทำร้ายผู้อื่น พฤติกรรมเหล่านี้ ก่อให้เกิดความยุ่งยากต่อครอบครัว ในการดูแลญาติต้องพาผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลบ่อยครั้ง ทำให้ครอบครัวบางครอบครัวรู้สึกเป็นภาระเบื่อหน่าย 1 ปี ที่ผ่านมามีผู้ป่วยที่อยู่รับการรักษาในหอผู้ป่วยเฉลี่ย 48 คนต่อวัน พบว่า ผู้ป่วยที่สามารถจำหน่ายได้เฉลี่ยเดือนละ 10 คน และมีผู้ป่วยที่ไม่สามารถจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลได้ เนื่องจากมีอาการทางจิตเรื้อรังมาก จำนวน เฉลี่ย 38 คนต่อวัน (ผลการปฏิบัติงานโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์, 2546) สำหรับผู้ป่วยจิตเวชที่เรื้อรังมาก และไม่สามารถจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลได้ อยู่โรงพยาบาลนานที่สุด 18 ปี น้อยที่ 11 เดือน และมีแนวโน้มเป็นภาระหนักสำหรับงานพยาบาลในอนาคต วัตถุประสงค์ เพื่อเสริมสร้างทักษะการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังชายให้สามารถดูแลตนเอง มีทักษะทางสังคมดีขึ้น เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา คือ แบบประเมินทักษะการดำเนินชีวิตประจำวัน แบบประเมินพฤติกรรมขณะเข้ากลุ่มเสริมสร้างทักษะการดำเนินชีวิตประจำวัน แบบประเมินพฤติกรรมความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวัน และโปรแกรมการเสริมสร้างทักษะการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังชาย ประกอบด้วย ทักษะการดูแลตนเอง ทักษะทางสังคม ทักษะการทำงานพื้นฐาน ทักษะการพักผ่อน ทักษะการใช้ชีวิตในบ้าน และทักษะการใช้ชีวิตในชุมชน นำข้อมูลมาหาค่าเฉลี่ยแต่ละทักษะ และหาค่าเฉลี่ยทักษะโดยรวม แล้วนำไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานชององค์การอนามัยโลก สรุปผลการศึกษา พบว่า ผู้ป่วยมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง สามารถดูแลตนเองได้และมีทักษะทางสังคมดีขึ้น ค่าคะแนนความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้นทุกคน และเพิ่มขึ้นจนสามารถเลื่อนระดับจากระดับเดิมเป็นระดับที่สูงขึ้น ดังนี้ 1. ความคิดระดับที่ 1 จำนวน 13 คน สามารถเลื่อนระดับเป็นระดับสูงขึ้นเป็นจำนวน 10 คน 2. ความคิดระดับที่ 2 จำนวน 15 คน สามารถเลื่อนระดับเป็นระดับสูงขึ้นเป็นจำนวน 8 คน 3. ความคิดระดับที่ 3 จำนวน 8 คน สามารถเลื่อนระดับเป็นระดับสูงขึ้นเป็นจำนวน 5 คน 4. ความคิดระดับที่ 4 จำนวน 2 คน สามารถเลื่อนระดับเป็นระดับสูงขึ้นเป็นจำนวน 1 คน

Keywords: จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, psychiatry

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ กรมสุขภาพจิต

Code: 20040000145

ISSN/ISBN: -

Country of publication: Thailand.

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตประจำปี 2547

Download: -