ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อนุชา ผาเมือง

ชื่อเรื่อง/Title: การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวชระยะเร่งรัดบำบัด

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 3, 25-27 สิงหาคม 2547 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพฯ, หน้า 392.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ผู้ป่วยจิตเวชเป็นบุคคลที่มีความพิการ มีความบกพร่องและมีความเสื่อมสมรรถภาพทางจิต เกิดความเบี่ยงเบนของพฤติกรรมความคิด อารมณ์ บกพร่องเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในสังคมเดิมของตนเอง ทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาในการดำรงชีวิต อยู่ในครอบครัว สังคม และประกอบอาชีพได้ไม่ปกติ ไม่เหมือนกับบุคคลทั่วไป ในการที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตกลับสู่ชุมชนได้อย่างมีศักดิ์และศรี จำเป็นจะต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพอย่างเร่งด่วน การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยระยะเร่งรัดบำบัด หรือ Goals Program ได้นำแนวคิดทฤษฎีความสำเร็จตามเป้าหมายของคิง (King) และแนวคิดการฟื้นฟูสมรรถภาพอื่นๆ ผสมผสานกับกิจกรรมต่างๆ มาประยุกต์ในการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวช ให้เหมาะสมตามสถานการณ์ พื้นที่ที่ผู้ป่วยดำเนินชีวิตอยู่ และตามความต้องการของผู้ป่วยในปัจจุบัน ซึ่งมีกลุ่มบำบัด 9 กิจกรรมกลุ่ม คือ ตัวของฉัน หมั่นเสริมกำลังใจ ขอใครชี้ทาง สร้างทักษะชีวิต โรคจิตคืออะไร รักษาใจด้วยยา เพื่อนจำช่วยที ครอบครัวนี้สำคัญ ช่วยกันก่อนกลับ เกษตรบำบัด มี 5 กิจกรรม คือการปลูกผักชะเอม การปลูกผักหวานบ้าน การปลูกผักสวนครัว การเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ การเลี้ยงเป็ดเทศ อาชีวะบำบัด มี 4 กิจกรรม คือประดิษฐ์ดอกไม้จากใยบัว ทำกระเป๋าจากกกสาน ประดิษฐ์งานจากกระดาษสา การทำหมอน การเข้าโปแกรมมีแบบประเมินคัดกรอง ประเมินก่อน หลังเข้าโปรแกรม ประเมินการพัฒนาและปัจจัยที่ทำให้เกิดการบำบัดระหว่างเข้ากิจกรรม ระยะเวลาในการเข้าโปรแกรมหนึ่งโปรแกรม คือ 10 วัน การฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วยจิตเวช เป็นการพัฒนาศักภาพของบุคคลที่ผิดปกติทางจิต ให้มีความสามารถในการดูแลตนเอง และการทำงาน ได้รับการยอมรับจากครอบครัวและสังคม ทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตในสังคมอย่างภาคภูมิใจ โดยใช้โปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านการแพทย์ ด้านอาชีพ ด้านการศึกษา และด้านสังคม การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยทั้ง 5 มิติ คือ ด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ด้านสังคม ด้านอารมณ์ และด้านจิตวิญญาณ วัตถุประสงค์ เป็นแนวทางในการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวชระยะเร่งรัดบำบัดในโรงพยาบาลจิตเวชสระแก้วราชนครินทร์ ประชากรที่ศึกษา เป็นผู้ป่วยจิตเวชที่รับรักษาในแผนกผู้ป่วยในโรงพยาบาลจิตเวชสระแก้วราชนครินทร์และผ่านการคัดกรองโดยแบบคัดกรอง เครื่องมือที่ใช้ในโครงการ Goals Program การเก็บรวบรวมข้อมูล แบบสัมภาษณ์ แบบบันทึก ข้อเสนอแนะ 1. ควรมีการประเมินผลผู้ป่วยที่เข้าโปรแกรมหลังจำหน่ายกลับสู่ชุมชน 2. ควรมีการเก็บรวบรวมข้อมูลและพัฒนาในรูปแบบการวิจัย 3. ควรมีการพัฒนาโปรแกรมให้สอดคล้องทันเหตุการณ์ปัจจุบันอยู่เสมอ 4. ศึกษาประสิทธิภาพของโปรแกรม

Keywords: จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, psychiatry

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: กลุ่มงานฟื้นฟูสมรรถภาพ โรงพยาบาลจิตเวชสระแก้วราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต

Code: 20040000147

ISSN/ISBN: -

Country of publication: Thailand.

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตประจำปี 2547

Download: -