ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: เกสร ขอรัตน์, ภวยา รัตนวิจิตร

ชื่อเรื่อง/Title: รูปแบบการจัดงานมหกรรมรวมพลังสร้างสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2: 2546

แหล่งที่มา/Source: วารสารวิชการสาธารณสุข, ปีที่ 13, ฉบับที่ 3, พฤษภาคม-มิถุนายน 2547 หน้า 509-516.

รายละเอียด / Details:

การศึกษารูปแบบการจัดมหกรรมรวมพลังสร้างสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบรูปแบบการจัดงานมหกรรมรวมพลังสร้างสุขภาพ ใน 9 ประเด็น คือ กลยุทธ์ในการดำเนินการระบบการลงทะเบียนและการรายงานผล การประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การประชาสัมพันธ์ การสนับสนุนงบประมาณ ความพึงพอใจของทีมดำเนินงานและประชาชนผู้เข้าร่วมงาน การแก้ไขปัญหา การดำเนินงาน การสนับสนุนจากส่วนกลาง และแผนปฏิบัติงานออกกำลังกายปี 2547 และศึกษารูปแบบการดำเนินการเฉพาะจังหวัดที่มีประชาชนร่วมออกกำลังกายมากที่สุด 3 อันดับแรก เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (qualitative research) โดยสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (in depth interview) และสนทนากลุ่มย่อย (focus group discussion) ประชากรหรือหน่วยวิเคราะห์ในการศึกษาได้คัดเลือกจังหวัดที่มีจำนวนประชาชนผู้เข้าร่วมออกกำลังกายมากที่สุด 5 จังหวัด คือ ชลบุรี สุพรรณบุรี มหาสารคาม อุตรดิตถ์ สงขลา และมีผู้ร่วมออกกำลังกายน้อยที่สุด 4 จังหวัด คือ ลำปาง สมุทรปราการ ศรีสะเกษ และภูเก็ต บุคคลผู้ให้ข้อมูลหลัก (key informants) เพื่อการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก 27 ราย ได้แก่ ผู้บริหารของหน่วยงานสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล และการสนทนากลุ่มย่อย 18 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ดำเนินการระดับจังหวัดของหน่วยงานสาธารณสุขและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำการศึกษาเดือนธันวาคม 2546 ผลการศึกษาพบว่า รูปแบบการจัดงานมหกรรมรวมพลังสร้างสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 2 ของจังหวัดที่มีผลงานเด่นมีกลยุทธ์การจัดงานในเชิงรุก มีการตั้งเป้าหมายจำนวนผู้เข้าร่วมงาน มีระบบการลงทะเบียนล่วงหน้า สามารถแจ้งจำนวนผู้เข้าร่วมงานให้ส่วนกลางได้ทันเหตุการณ์ มีการประสานการสนับสนุนงบประมาณจากทั้งภาครัฐและเอกชน การประชาสัมพันธ์ใช้สื่อบุคคล (ปากต่อปาก) คณะผู้จัดงานและประชาชนผู้เข้าร่วมงานมีความพึงพอใจ ซึ่งเป็นจุดแข็งของรูปแบบการจัดงานของจังหวัดที่มีผลงานเด่น สำหรับรูปแบบการดำเนินงานจังหวัดที่มีประชาชนมาร่วมออกกำลังกายมากที่สุด 3 อันดับแรกนั้น พบว่าจังหวัดชลบุรีให้ผู้ปฏิบัติของแต่ละพื้นที่แข่งขันกันคิดหาวิธีให้ประชาชนมาร่วมออกกำลังกายในวันนั้นมากที่สุด ให้งบประมาณสนับสนุนตามผลงานที่เกิดขึ้น ในขณะที่จังหวัดสุพรรณบุรี ใช้การประชาสัมพันธ์ถึงที่บ้านและการลงทะเบียนล่วงหน้า สำหรับจังหวัดมหาสารคาม ใช้การเต้นแอโรบิกออกอากาศผ่านสถานีวิทยุแห่งประเทศไทยจังหวัดมหาสารคาม ในช่วงเวลาจัดงาน และจัดทีมช่วยย้อมเสื้อเหลืองเวียนไปทุกเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)

Keywords: ูรูปแบบ, มหกรรมรวมพลังสร้างสุขภาพแห่งชาติ, การออกกำลังกาย

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย

Code: 20040000186

ISSN/ISBN: 0858-4923

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ วารสารวิชาการ

Download: -