ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ดร.ดุจเดือน พันธุมนาวิน

ชื่อเรื่อง/Title: ปัจจัยทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการสนับสนุนทางสังคม ของหัวหน้าในสถานีอนามัยตำบล

แหล่งที่มา/Source: รางวัลผลงานการวิจัยและพัฒนาระบบพฤติกรรมไทยประจำปี 2547, สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช), 2547 หน้า 1-20.

รายละเอียด / Details:

การวิจัยเรื่องนี้มีจุดมุ่งหมายในการศึกษาปัจจัยเชิงสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการสนับสนุนทางสังคมของหัวหน้า โดยมีจุดมุ่งหมายในการวิจัยที่สำคัญ 4 ประการ คือ 1) เพื่อศึกษาว่าหัวหน้าที่มีจิตลักษณะที่แตกต่างกัน จะมีพฤติกรรมการสนับสนุนทางสังคมแตกต่างกันเพียงใด และพบในห้วหน้าประเภทใดบ้าง 2) เพื่อศึกษาว่าหัวหน้าที่อยู่ในสถานการณ์ในการทำงานแตกต่างกัน จะมีพฤติกรรมการสนับสนุนทางสังคมแตกต่างกันเพียงใด และพบในหัวหน้าประเภทใดบ้าง เพราะเหตุใด 3) เพื่อศึกษาว่าอิทธิพลร่วมระหว่างจิตลักษณะและสถานการณ์ของหัวหน้า ว่าจะเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการสนับสนุนทางสังคมเพียงใดในห้วหน้าประเภทใดบ้าง และ 4) เพื่อแสวงหา หัวหน้าประเภทที่เสี่ยง คือ มีพฤติกรรมการสนับสนุนทางสังคมหลายด้านในปริมาณน้อย และปัจจัยเชิงเหตุที่เกี่ยวข้องในหัวหน้าเหล่านั้น กรอบแนวคิดด้านสาเหตุประเภทต่างๆ ของพฤติกรรมมนุษย์ในการวิจัยนี้ มีพื้นฐานมาจากรูปแบบทฤษฎีปฏิสัมพันธ์นิยม (Interactionism Model) และยังได้ศึกษาสาเหตุทางจิตลักษณะ โดยใช้ตัวแปรจากทฤษฎีต้นไม้จริยธรรม รวมทั้งยังได้นำตัวแปรทางพุทธศาสนามาศึกษาเป็นปัจจัยเชิงเหตุของพฤติกรรมการสนับสนุนทางสังคมของหัวหน้าอีกด้วย การวิจัยนี้เป็นการศึกษาความสัพพันธ์เปรียบเทียบ (Correlational-Comparative Study) โดยใช้วิธีการสุ่มแบบ Stratified accidental sampling กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยนี้ คือหัวหน้าสถานีอนามัยตำบลในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง รวม 6 จังหวัด จำนวน 509 คน เป็นชาย 212 คน 41.7% หญิง 293 คน 57.6% ไม่ระบุเพศ 4 คน มีอายุโดยเฉลี่ย 43.45 ปี (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 7.72) และมีการศึกษาโดยเฉลี่ย 14.92 ปี (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 1.10) สมมติฐานในการวิจัยนี้มี 6 ข้อ สถิติที่ใช้ในการทดสอบสมมุติฐานมี 2 ประเภท คือ หนึ่ง การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบสามทาง (Three-way Analysis of Variance) และ สอง การวิเคราะห์แบบถดถอยพหุคูณ (Multiple Regression Analysis) ทั้งชนิดโดยรวม (Standard) เป็นขั้น (Stepwise) และ เป็นลำดับ (Hierarchical) การวิเคราะห์ข้อมูลได้ทำทั้งในกลุ่มรวม และกลุ่มย่อย 8 กลุ่ม ซึ่งแบ่งตามลักษณะชีวสังคมภูมิหลังของหัวหน้า ซึ่งพบผลการวิจัยที่สำคัญ 4 ประการ ดังนี้ 1. จิตลักษณะเดิม สถานการณ์ และจิตลักษณะตามสถานการณ์รวม 10 ตัวแปร สามารถร่วมกันทำนายพฤติกรรมการสนับสนุนทางสังคมด้านอารมณ์ พฤติกรรมการสนับสนุนทางสังคมด้านข้อมูลข่าวสาร พฤติกรรมการสนับสนุนทางสังคมด้านวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือและงบประมาณ และพฤติกรรมการสนับสนุนทางสังคมโดยรวมได้ 35.3%, 34.9%, 36.5%, และ 44.3% ตามลำดับ และสามารถทำนายพฤติกรรมการสนับสนุนทางสังคมทั้ง 4 ด้านนี้ ตามลำดับ ได้สูงสุดในกลุ่มหัวหน้าที่สถานีอนามัยอำเภอเมือง คือ 48.8%, 49.0%, 50.8% และ 59.3% โดยสรุปแล้วตัวทำนายที่สำคัญที่สุดของพฤติกรรมการสนับสนุนทางสังคมทั้งหลายเหล่านี้ คือ ทัศนคติที่ดีต่อพฤติกรรมการสนับสนุนทางสังคมของหัวหน้า รองลงมาคือ ความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้าและลูกน้อง วิถีชีวิตแบบพุทธ ผลการปฏิบัติงานของลูกน้อง และประสบการณ์ทางสังคมของหัวหน้า 2. ผลการวิจัยสนับสนุนทฤษฎีต้นไม้จริยธรรม โดยปรากฎว่าทัศนคติที่ดีต่อพฤติกรรมการสนับสนุนทางสังคมของหัวหน้า สามารถเพิ่มอำนาจการทำนายพฤติกรรมการสนับสนุนทางสังคมทั้งสี่ตัวแปร นอกเหนือจากเมื่อจิตลักษณะตัวอื่นๆ อีก 4 ตัว คือ สุขภาพจิต แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ ความเชื่ออำนาจในตนและลักษณะมุ่งอนาคตควบคุมตน ได้ร่วมกันทำนายไปแล้วโดยในพฤติกรรมการสนับสนุนทางสังคม ทัศนคติที่ดีต่อพฤติกรรมการสนับสนุนทางสังคมของหัวหน้ามีพิสัยของการทำนายที่เพิ่มขึ้น ในกลุ่มรวมและกลุ่มย่อยอยู่ระหว่าง 15.2% ถึง 20.2% แต่เมื่อทัศนคติที่ดีต่อพฤติกรรมการสนับสนุนทางสังคมมาร่วมกับจิตลักษณะอีกสี่ตัวข้างต้น สามารถทำนายพฤติกรรมการสนับสนุนทางสังคมโดยรวมได้ 32.9% ถึง 45.8% ดังนั้นการใช้จิตลักษณะหลายตัว ก็จะยิ่งสามารถทำนายพฤติกรรมการสนับสนุนทางสังคมได้มากกว่า การใช้จิตลักษณะเพียงตัวเดียวหรือน้อยตัว 3. หัวหน้าที่มีพฤติกรรมการสนับสนุนทางสังคมน้อยคือ 1) หัวหน้าที่มีลูกน้อยอายุมาก (มากกว่า 30 ปีขึ้นไป) 2) หัวหน้าที่มีลูกน้องการศึกษาต่ำ (น้อยกว่าหรือเท่ากับ 14 ปี) และ 3) หัวหน้าที่ทำงานกับลูกน้องชายอายุน้อยที่มีการศึกษาสูง จึงควรพัฒนาหัวหน้าเหล่านี้เป็นกลุ่มเป้าหมายเร่งด่วน โดยพัฒนาทัศนคติที่ดีต่อพฤติกรรมการสนับสนุนทางสังคม แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ลักษณะมุ่งอนาคตควบคุมตน การเสริมสร้างวิถีการดำเนินชีวิตในแนวทางของศาสนา และการสร้างความรักสามัคคี กลมเกลียวในหน่วยงาน รวมทั้งฝึกนิสัยการให้การสนับสนุนทางสังคมสามด้านแก่ลูกน้อง ซึ่งนำจะไปสู่การพัฒนาประสิทธิผลของสถานีอนามัยตำบล อันจะช่วยแก้ปัญหาสำคัญของชาติได้มากต่อไป

Keywords: พฤติกรรม, สังคม, ทัศนคติ, แรงจูงใจ, จิตลักษณะ, จิตวิทยา

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำคณะพัฒนาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

Code: 20040000190

ISSN/ISBN: 974-326-260-1

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Original article รางวัลผลงานการวิจัยและพัฒนาระบ

Download: -