ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สุมิตตรา เจิมพันธ์

ชื่อเรื่อง/Title: จิตลักษณะและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการเรียนคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย

แหล่งที่มา/Source: รางวัลผลงานการวิจัยและพัฒนาระบบพฤติกรรมไทยประจำปี 2547, สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช), 2547 หน้า 55-76.

รายละเอียด / Details:

การศึกษาวิจัยครั้งนี้มุ่งศึกษาปัจจัยเชิงเหตุที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการเรียนคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในโรงเรียนรัฐบาล สังกัดกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีจุดประสงค์ 1) เพื่อศึกษาถึงปัจจัยทางด้านประสบการณ์ในการเรียนคณิตศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ว่ามีความเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการเรียนคณิตศาสตร์มากน้อยเพียงใด และพบในนักเรียนประเภทใดบ้าง 2) เพื่อศึกษาว่าจิตลักษณะเดิมของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย มีความเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการเรียนคณิตศาสตร์มากน้อยเพียงใด และพบในนักเรียนประเภทใดบ้าง 3) เพื่อศึกษาว่าจิตลักษณะต่างๆ ร่วมกับประสบการณ์ในการเรียน มีความเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการเรียนคณิตศาสตร์และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายมากน้อยเพียงใด และเพราะเหตุใด โดยกลุ่มตัวอย่างในการวิจัยคือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนรัฐบาลในสังกัดกรมสามัญศึกษา 4 โรงเรียน จำนวน 524 คน ซึ่งเป็นนักเรียนชาย 212 คน และนักเรียนหญิง 312 คน การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาความสัมพันธ์เปรียบเทียบเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม และแบบวัดมาตรประเมินรวมค่า โดยแบ่งกลุ่มตัวแปรออกเป็น 5 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มตัวแปรด้านประสบการณ์ในการเรียน 2) กลุ่มตัวแปรด้านจิตลักษณะเดิม 3) กลุ่มตัวแปรด้านจิตลักษณะตามสถานการณ์ 4) กลุ่มพฤติกรรมการเรียนคณิตศาสตร์ (พฤติกรรมการเตรียมตัวก่อนเรียน พฤติกรรมขณะเรียนในชั้นเรียน และพฤติกรรมหลังเรียน) 5) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ และ 6) ลักษณะทางชีวสังคม ภูมิหลัง สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ คือการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบสามทาง (Three-Way Analysis of Variance) การวิเคราะห์แบบถดถอยพหุคูณ (Multiple Regression is) เพื่อทดสอบสมมติฐานที่ตั้งไว้ 5 ข้อ และมีสถิติขั้นรองในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ การเปรียบค่าเฉลี่ยเป็นรายคู่ด้วยวิธีการของ Scheff การวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติทั้งหมดนี้ได้กระทำทั้งในกลุ่มรวมและกลุ่มย่อย ที่แบ่งโดยลักษณะทางชีวสังคมภูมิหลังของนักเรียน ผลการวิจัยที่สำคัญมี 4 ประการ ดังนี้ ประการแรก พบว่า ปัจจัยด้านจิตลักษณะเดิม สามารถทำนายพฤติกรรมการเตรียมตัวก่อนเรียน พฤติกรรมขณะเรียนในชั้นเรียน และพฤติกรรมหลังเรียนในกลุ่มรวมได้ 30.7% 40.3% และ 40.3% ตามลำดับ โดยมีตัวทำนายที่สำคัญ คือมุ่งอนาคต ควบคุมตน แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ ตามลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนที่ฐานะครอบครัวสูง ทำนายได้ 33.4% 31.6% และ 50.6% ตามลำดับ และปัจจัยด้านจิตลักษณะตามสถานการณ์สามารถทำนายพฤติกรรมการเตรียมตัวก่อนเรียน พฤติกรรมขณะเรียนในชั้นเรียน และพฤติกรรมหลังเรียนในกลุ่มรวมได้ 40.6% 36.0% และ 48.1% ตามลำดับ โดยมีตัวทำนายที่สำคัญ คือทัศนคติที่ดีต่อพฤติกรรมการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนชาย ทายได้ 44.7% 48.0% และ 53.3% ตามลำดับ ประการที่สอง พบว่า ปัจจัยด้านประสบการณ์ในการเรียนสามารถทำนายพฤติกรรมการเตรียมตัวก่อนเรียน พฤติกรรมขณะเรียนในชั้นเรียน และพฤติกรรมหลังเรียนในกลุ่มรวมได้ 31.8% 32.1% และ 29.7% ตามลำดับ โดยมีตัวทำนายที่สำคัญ คือ การได้รับการสนับสนุนในการเรียนคณิตศาสตร์จากผู้ปกครอง การเห็นแบบอย่างจากเพื่อน และการรับรู้การปฏิบัติจากครูคณิตศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนชาย ทำนายได้ 40.5% 41.1% และ 36.2%ตามลำดับ ประการที่สาม พบว่าปัจจัยด้านประสบการณ์ในการเรียนร่วมกับจิตลักษณะ สามารถทำนายพฤติกรรมการเตรียมตัวก่อนเรียน พฤติกรรมขณะเรียนในชั้นเรียน และพฤติกรรมหลังเรียนในกลุ่มรวมได้ 54.2% 53.9% และ 64.4% ตามลำดับ โดยมีตัวทำนายที่สำคัญ คือ ทัศนคติที่ดีต่อพฤติกรรมการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ มุ่งอนาคตควบคุมตน และการได้รับการสนับสนุนในการเรียนคณิตศาสตร์จากผู้ปกครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนที่มีจำนวนพี่น้องมาก ทำนายได้ 60.7% 63.5%~ และ 66.7% ตามลำดับ ประการที่สี่ นักเรียนที่มีจิตลักษณะ ประสบการณ์ในการเรียนพฤติกรรมการเรียนคณิตศาสตร์ทั้ง 3 ด้าน และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ในปริมาณต่ำ มักเป็นนักเรียนชาย ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนานักเรียน ควรพัฒนาดังนี้ ประการแรก พัฒนานักเรียนชายให้มีทัศนคติที่ดีต่อพฤติกรรมการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ให้มากขึ้น ประการที่สอง บทบาทของครูที่สำคัญ คือการปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม และสร้างบรรยากาศในห้องเรียนที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนคณิตศาสตร์ให้มากขึ้น ประการที่สาม ผู้ปกครองควรให้การสนับสนุนในด้านการเรียนคณิตศาสตร์ แก่นักเรียนให้มากขึ้น และควรปรึกษาและขอคำแนะนำจากครูให้มากขึ้น และประการที่สี่ควรพัฒนาให้นักเรียนมีพฤติกรรมการเตรียมตัวก่อนเรียนให้มากขึ้น เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ให้สูงขึ้น

Keywords: พฤติกรรม, ความแปรปรวน, แรงจูงใจ, คณิตศาสตร์, จิตลักษณะ, จิตวิทยา

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: นักศึกษาโครงการปริญญาดุษฎีบัณฑิต วิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

Code: 20040000192

ISSN/ISBN: 974-326-260-1

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Original article รางวัลผลงานการวิจัยและพัฒนาระบ

Download: -