ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ฐานันดร์ เปียศิริ

ชื่อเรื่อง/Title: ปัจจัยทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมประหยัดพลังงานไฟฟ้าของนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการห้องเรียนสีเขียว

แหล่งที่มา/Source: รางวัลผลงานการวิจัยและพัฒนาระบบพฤติกรรมไทยประจำปี 2547, สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช), 2547 หน้า 95-118.

รายละเอียด / Details:

การวิจัยเรื่องนี้มีจุดมุ่งหมายในการศึกษาปัจจัยเชิงเหตุที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการประหยัดพลังงานไฟฟ้าของนักเรียนในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการห้องเรียนสีเขียว โดยมีจุดประสงค์ 4 ประการคือ 1) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการห้องเรียนสีเขียว กับนักเรียนที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการห้องเรียนสีเขียว ว่ามีจิตลักษณะและพฤติกรรมการประหยัดไฟฟ้าต่างกันหรือไม่ 2) เพื่อศึกษานักเรียนที่มีจิตลักษณะเดิมแตกต่างกัน จะมีพฤติกรรมการประหยัดไฟฟ้าต่างกันมากน้อยเพียงใดในนักเรียนประเภทใดบ้าง 3) เพื่อศึกษานักเรียนที่อยู่ในสถานการณ์แวดล้อมต่างกัน จะมีพฤติกรรมการประหยัดไฟต่างกันมากน้อยเพียงใดในนักเรียนประเภทใดบ้าง 4) สถานการณ์ต่างๆ ร่วมกับจิตลักษณะต่างๆ จะเกี่ยวข้องกับการมีพฤติกรรมการประหยัดไฟฟ้าของนักเรียนอย่างไร เป็นเพราะเหตุใด กรอบแนวคิดด้านสาเหตุประเภทต่างๆ ของพฤติกรรมในการวิจัยนี้ มีพื้นฐานมาจากรูปแบบทฤษฎีปฏิสัมพันธ์นิยม (Interactionism Model) และยังได้ศึกษาสาเหตุทางจิตลักษณะ โดยใช้ตัวแปรจากทฤษฎีต้นไม้จริยธรรม รวมทั้งยังได้นำแนวคิดอธิบายสาเหตุของพฤติกรรมที่มาจากความตั้งใจ (เจตนา) และการรับรู้ความสามารถในการควบคุมพฤติกรรม จากทฤษฎีพฤติกรรมตามแผน (the Theory of Planed Beharior) การวิจัยนี้เป็นการศึกษาความสัมพันธ์เปรียบเทียบ (Correlational Comparative Study) โดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบ Stratified Quota Random Sampling กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยนี้ คือ นักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 5 ปีการศึกษา 2545 รวมทั้งสิ้น 701 คน เป็นชาย 41.9% และหญิง 58.1% อยู่ในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการห้องเรียนสีเขียว 48.6% และ โรงเรียนที่ไม่เข้าร่วมฯ 51.4% มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ 34.8% และต่างจังหวัด 63.2% สมมติฐานในการวิจัยนี้มี 6 ข้อ สถิติที่ใช้ในการทดสอบสมมติฐาน มี ประเภท คือ 1) การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบสามทาง (Three-way analysis of Variance) 2) การวิเคราะห์แบบถดถอยพหุคูณ (Multiple Regression Analysis) ทั้งชนิดโดยรวม (Standard) เป็นขั้น (Stepwise) และเป็นลำดับ (Hierarchical) การวิเคราะห์ได้ทำทั้งในกลุ่มรวม และกลุ่มย่อย 20 กลุ่ม ซึ่งแบ่งตามลักษณะชีวสังคมภูมิหลังของนักเรียน พบผลการ วิจัยที่สำคัญ 5 ประการดังนี้ 1. นักเรียนที่เข้าฝึกอบรมในโครงการห้องเรียนสีเขียว มีทัศนคติที่ดีต่อพฤติกรรมประหยัดไฟฟ้าส่วนตัว พฤติกรรมการประหยัดไฟฟ้าในครอบครัว และพฤติกรรมการประหยัดไฟฟ้า เพื่อส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว พบผลดีนี้ในนักเรียนต่างจังหวัดและนักเรียนที่มีผลการเรียนสูง 2. นักเรียนที่มีจิตลักษณะเดิม 3 ด้านสูง คือมีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์สูง มีลักษณะมุ่งอนาคตควบคุมตนสูง และมีความเชื่ออำนาจในตนสูง เป็นผู้ที่มีพฤติกรรมการประหยัดไฟฟ้าในครอบครัวมากกว่านักเรียนประเภทตรงข้าม พบในกลุ่มกรุงเทพฯ และกลุ่มฐานะครอบครัวสูง และยังพบอีกว่าปัจจัยทางจิตลักษณะเดิมรวม 4 ตัวแปร สามารถทำนายทัศนคติที่ดีต่อพฤติกรรมประหยัดไฟฟ้า พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าส่วนตัว พฤติกรรมการประหยัดไฟฟ้าในครอบครัว และพฤติกรรมประหยัดไฟฟ้าเพื่อส่วนรวม ในนักเรียนกลุ่มรวมได้ 28.4% 30.4% 26.4% และ 26.4% ตามลำดับ โดยทำนายทัศนคติที่ดีต่อพฤติกรรมประหยัดไฟฟ้าได้สูงสุด 33.5% ในกลุ่มนักเรียนเพศชายทำนายพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าส่วนตัวได้สูงสุด 32.3% ในกลุ่มผลการเรียนต่ำ และทำนายพฤติกรรมประหยัดไฟฟ้าเพื่อส่วนรวมได้สูงสุด 32.8% ในกลุ่มฐานะครอบครัวสูง โดยมีตัวทำนายที่สำคัญเรียงตามลำดับคือ ลักษณะมุ่งอนาคตควบคุมตน ความเชื่ออำนาจในตน และแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ 3. พบว่านักเรียนที่มีประสบการณ์ขาดแคลนไฟฟ้ามาก และมีทัศนคติที่ดีต่อพฤติกรรมประหยัดไฟฟ้ามาก เป็นผู้มีพฤติกรรมประหยัดไฟฟ้าส่วนตัวมาก พบในกลุ่มนักเรียนที่บิดามีการศึกษามาก และเป็นผู้มีพฤติกรรมการประหยัดไฟฟ้าเพื่อส่วนรวมมาก พบในกลุ่มนักเรียนที่มารดามีการศึกษาน้อย นอกจากนี้ยังพบอีกว่า ปัจจัยด้านสถานการณ์ รวม 3 ตัวแปร สามารถทำนายทัศนคติที่ดีต่อพฤติกรรมประหยัดไฟฟ้า พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าส่วนตัว พฤติกรรมการประหยัดไฟฟ้าในครอบครัว และพฤติกรรมประหยัดไฟฟ้าเพื่อส่วนรวมในนักเรียนกลุ่มรวมได้ 43.4%, 26.7%, 34.5%, และ 30.4% ตามลำดับ โดยมีตัวทำนายที่สำคัญเรียงตามลำดับ คือการเห็นแบบอย่างการประหยัดไฟฟ้า จากครอบครัว การสนับสนุนทางสังคมในโรงเรียน และประสบการณ์ขาดแคลนไฟฟ้า 4. ปัจจัยด้านสถานการณ์ เมื่อร่วมกับปัจจัยทางจิตลักษณะรวม 7 ตัวแปร สามารถทำนายทัศนคติที่ดีต่อพฤติกรรมประหยัดไฟฟ้า พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าส่วนตัว พฤติกรรมการประหยัดไฟฟ้าในครอบครัว และพฤติกรรมการประหยัดไฟฟ้าเพื่อส่วนรวมในกลุ่มร่วม ได้ 48.0%, 37.7%, และ 37.9% ตามลำดับ และทำนายทัศนคติที่ดีต่อพฤติกรรมประหยัดไฟฟ้าได้สูงสุด 51.2% ในกลุ่มนักเรียนกรุงเทพฯ พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าส่วนตัว ทำนายได้สูงสุด 43.8% ในกลุ่มนักเรียนที่เข้าโครงการฝึกอบรม พฤติกรรมการประหยัดไฟฟ้าในครอบครัว ทำนายได้สูงสุด48.5% ในกลุ่มนักเรียนที่บิดามีการศึกษาน้อย และพฤติกรรมประหยัดไฟฟ้าเพื่อส่วนรวมทำนายได้สูงสุด 43.6% ในกลุ่มนักเรียนที่มีการศึกษามาก ซึ่งพบโดยรวมว่าทั้งทัศนคติที่ดีต่อพฤติกรรมประหยัดไฟฟ้าและพฤติกรรมการประหยัดไฟฟ้าในครอบครัวของนักเรียน มีการเห็นแบบอย่างการประหยัดไฟฟ้าจากครอบครัว เป็นตัวทำนายสำคัญอันดับแรกในกลุ่มรวมและกลุ่มย่อยทุกกลุ่ม ส่วนพฤติกรรมการประหยัดไฟฟ้าส่วนตัวและพฤติกรรมการประหยัดไฟฟ้าเพื่อส่วนรวม มีลักษณะมุ่งอนาคตควบคุมตน เป็นตัวทำนายสำคัญอันดับแรกในกลุ่มรวมและกลุ่มย่อยอีกหลายกลุ่ม 5. ทัศนคติที่ดีต่อพฤติกรรมประหยัดไฟฟ้า สามารถเพิ่มอำนาจการทำนายพฤติกรรมการประหยัดไฟฟ้าทั้ง 3 ด้านได้เพิ่มขึ้นจากจิตลักษณะเดิม 4 ตัวแปร คือ สุขภาพจิตดี แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ ความเชื่ออำนาจในตน ลักษณะมุ่งอนาคตควบคุมตนเป็นขั้นที่หนึ่ง และจากสถานการณ์อื่น 3 ตัวแปร คือ การสนับสนุนทางสังคมในโรงเรียน การเห็นแบบอย่างการประหยัดไฟฟ้าจากครอบครัว และประสบการณ์ขาดแคลนไฟฟ้าเป็นขั้นที่สอง ซึ่งได้ร่วมกันทำนายไปแล้ว โดยขั้นต่อมาทำนายพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าส่วนตัวในกลุ่มรวมได้เพิ่มขึ้น 5.4% และเพิ่มขึ้นได้สูงสุด 8.6% ในกลุ่มนักเรียนชาย ส่วนพฤติกรรมการประหยัดไฟฟ้าในครอบครัวในกลุ่มรวม ทัศนคติสามารถทำนายได้เพิ่มขึ้น 8.3% และเพิ่มขึ้นสูงสุด 11.9% ในกลุ่มนักเรียนฐานะครอบครัวสูง นอกจากนี้ทัศนคติฯ สามารถทำนายพฤติกรรมการประหยัดไฟฟ้าเพื่อส่วนรวมในกลุ่มรวมได้เพิ่มขึ้น 5.2% และทำนายเพิ่มขึ้นสูงสุด 9.5% ในกลุ่มนักเรียนผลการเรียนสูง

Keywords: พฤติกรรม, แรงจูงใจ, สุขภาพจิต, พลังงาน, ไฟฟ้า, ครอบครัว, ทัศนคติ, ความเชื่อ, จิตลักษณะ, จิตวิทยา

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: นักศึกษาปริญญาโท คณะพัฒนาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์

Code: 20040000194

ISSN/ISBN: 974-326-260-1

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Original article รางวัลผลงานการวิจัยและพัฒนาระบ

Download: -