ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สธิตา สมควรดี

ชื่อเรื่อง/Title: การเลิกสูบบุหรี่ : ความตั้งใจและปัจจัยสาเหตุที่ทำให้เลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จ

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 7, 1-3 กันยายน 2542 , ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ซิตี้ จอมเทียน จังหวัดชลบุรี, หน้า 44-45.

รายละเอียด / Details:

การเลิกสูบบุหรี่เป็นความพยายามและความอดทนสูงเพื่อต่อสู้กับความอยากสูบบุหรี่ ซึ่งผู้ที่เลิกสูบบุหรี่น่าจะมีความตั้งใจในการเลิกสูบบุหรี่สูง จึงจะสามารถเลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จโดยมีปัจจัยส่งเสริมอื่นร่วมด้วย การศึกษาเชิงสำรวจครั้งนี้ได้ติดตามผลในประชาชนที่ได้รับการบริการในคลินิกอดบุหรี่ของโรงพยาบาลมุกดาหารทั้งหมด ตั้งแต่ปี 2536-2540 จำนวน 100 คน ติดตามได้ร้อยละ 94 โดยใช้แบบสอบถามที่สร้างขึ้นเองมีค่าความเชื่อมั่น 0.88 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลความตั้งใจและปัจจัยสาเหตุที่ทำให้เกิดความตั้งใจและมีผลทำให้เลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จ ใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS PC ในการิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้สถิติจำนวนร้อยละ และความสัมพันธ์ทางด้านสถิติ ผลการศึกษาพบว่า : ในกลุ่มที่ศึกษา 94 คน สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ร้อยละ 61.7 เลิกไม่ได้ร้อยละ 38.3 โดยอายุที่เริ่มสูบบุหรี่เฉลี่ย 17 ปี และระยะเวลาสูบนานเฉลี่ย 23 ปี เคยลองเลิกสูบบุหรี่ 1-2 ครั้ง ร้อยละ 44.7 ไม่เคยลองเลิกสูบบุหรี่ร้อยละ 14.9 ในกลุ่มผู้ที่ลองเลิกที่สูบบุหรี่และเลิกไม่ได้ร้อยละ 10.6 สาเหตุจากความอยากสูบบุหรี่ และร้อยละ 2.1 เพื่อน และคนรอบข้างยังสูบบุหรี่ จึงทำให้กลับมาสูบบุหรี่อีกโดยผู้เลิกสูบบุหรี่ได้มีความตั้งใจสูงกว่าผู้เลิกสูบบุหรี่ไม่ได้ มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ P=0.0001 ปัจจัยสาเหตุด้าน ความรู้พิษภัยบุหรี่ต่อสุขภาพ ความรักความห่วงใยต่อสุขภาพตนเองและครอบครัว สภาพแวดล้อมและกฎของสังคมบังคับ มีผลต่อความตั้งใจที่จะเลิกสูบบุหรี่ โดยมีปัจจัยสาเหตุที่ทำให้เลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จ คือด้านความรู้พิษภัยบุหรี่ต่อสุขภาพ ความตั้งใจที่จะเลิกสูบบุหรี่ของตนเองมีซึ่งมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ P‹0.05 เจ้าหน้าที่สาธารณสุขควรตระหนักในการให้ความรู้เรื่องพิษของบุหรี่ต่อสุขภาพและเป็นตัวอย่างเพื่อให้ประชาชนเกิดความห่วงใยต่อสุขภาพ การสร้างกฎระเบียบของสังคม เป็นการส่งเสริมให้เกิดความตั้งใจให้เลิกสูบบุหรี่ และการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้เรื่องพิษภัยของบุหรี่ด้วยวิธีการต่าง ๆ จะทำให้ผู้สูบบุหรี่มีความตั้งใจจนสามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ และในผู้ที่เลิกสูบบุหรี่แล้วควรมีการติดตามเพื่อเป็นการประเมินผลรวมทั้งประกาศ เชิดชู ยกย่อง ให้สังคมรับรู้เพื่อไม่ให้กลับไปสูบบุหรี่อีก

Keywords: สุขภาพ, บุหรี่, ครอบครัว, สิ่งแวดล้อม, สารเสพติด, ยาเสพติด

ปีที่เผยแพร่/Year: 2542

Address: โรงพยาบาลมุกดาหาร

Code: 20040000196

ISSN/ISBN: 974-291-983-6

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับการคัดเลือกนำเสนอในเวทีประชุมวิชาการ

Download: -