ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: คนึงสุข สุนทรเสถียร

ชื่อเรื่อง/Title: ความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลของประชาชน เมื่อพบผู้ประสบอุบัติเหตุบนเส้นทางถนนเบิกไพร-บ้านโป่ง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 7, 1-3 กันยายน 2542 , ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ซิตี้ จอมเทียน จังหวัดชลบุรี, หน้า 17-18.

รายละเอียด / Details:

จากสถิติรายงาน จำนวนผู้ป่วยอุบัติเหตุทั้งหมดที่มารับบริการที่ งานอุบัติเหตุและฉุกเฉินของโรงพยาบาลบ้านโป่งของปีงบประมาณ 2540 มีจำนวน 1,185 ราย และเป็นอุบัติทางจราจร และมีแนวโน้มเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จากการศึกษาพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความสนใจ และไม่เห็นความสำคัญของอันตรายที่รุนแรงของอุบัติเหตุทางจราจร ดังนั้นจึงจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันแก้ไขปัญหานี้อย่างรีบด่วน โดยเฉพาะผู้ขับขี่ยานพาหนะทุกประเภทคณะผู้วิจัยได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงมีความสนใจที่จะศึกษาความรู้ทัศนคติและการปฏิบัติของประชาชน ในเขตอำเภอบ้านโป่ง ที่ใช้ถนนเบิกไพร-บ้านโป่ง ได้ใช้เป็นแนวทางในการวางแผนป้องกันเพื่อลดอุบัติเหตุในชุมชน รวมทั้งเป็นแนวทางในการวางแผนปรับปรุงพัฒนางานอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลบ้านโป่งให้มีประสิทธิภาพดียิ่ง สมมุติฐานการวิจัย 1.ความรู้กับการปฏิบัติของประชาชนเกี่ยวกับการปฐมพยาบาล เมื่อประสบอุบัติเหตุบนเส้นทางถนนเบิกไพร-บ้านโป่ง แตกต่างกัน 2. ทัศนคติกับการปฏิบัติของประชาชนเกี่ยวกับการปฐมพยาบาล เมื่อประสบอุบัติเหตุบนเส้นทางถนนเบิกไพร-บ้านโป่ง แตกต่างกัน 3. ความรู้เกี่ยวกับทัศนคติของประชาชนเกี่ยวกับการปฐมพยาบาล เมื่อประสบอุบัติเหตุบนเส้นทางถนนเบิกไพร-บ้านโป่งแ ตกต่างกัน การศึกษาวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลของประชาชนเส้นทางถนนเบิกไพร-บ้านโป่งกลุ่มตัวอย่างเป็นประชาชนที่มีบ้านเรือนอาศัยอยู่สองข้างในรัศมี 50 เมตร บนเส้นทางถนนเบิกไพร-บ้านโป่ง เป็นระยะทางยาว 53 กิโลเมตร ประมาณ 2,095 หลังคาเรือนโดยกำหนดลักษณะของประชาชนกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา เป็นผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปี ขึ้นไป มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ และสามารถให้ข้อมูลได้หลังคาเรือนละ 1 คน และใช้สูตร Yamane คำนวนหาขนาดตัวอย่างได้จำนวน 350 คน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ร้อยละ Chi-Spuare และ ANOVA ผลการศึกษาวิจัยปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ เพศ อายุ การศึกษา และอาชีพพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างความรู้เกี่ยวกับการปฐมพยาบาล กับปัจจัยส่วนบุคคลทุกด้าน ไม่มีความสัมพันธ์กับทางสถิติ ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างทัศนะคติเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลกับปัจจัยส่วนบุคคล โดยมีเพียงปัจจัยส่วนบุคคลด้านการศึกษาเท่านั้น ที่มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างการปฏิบัติเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลกับปัจจัยส่วนบุคคลทุกด้านไม่มีความสัมพันธ์กันทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยคะแนนความรู้กับการปฏิบัติเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลของผู้ประสบเหตุบนเส้นทางถนนเบิกไพร-บ้านโป่ง พบว่ากลุ่มที่ให้การปฐมพยาบาลโดยใช้วัสดุมีค่าเฉลี่ยคะแนนความรู้สูงกว่า กลุ่มที่ให้การปฐมพยาบาลโดยไม่ใช่วัสดุอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ0.05 ส่วนค่าเฉลี่ยคะแนนทัศนคติกับการปฏิบัติเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลของผู้ประสบเหตุ บนเส้นทางถนนเบิกไพร-บ้านโป่ง พบว่ากลุ่มที่ให้การปฐมพยาบาลโดยใช้วัสดุ มีค่าเฉลี่ยคะแนนทัศนคติสูงกว่าการปฏิบัติของกลุ่มที่ไม่ให้การปฐมพยาบาล กับกลุ่มที่ให้การปฐมพยาบาลโดยไม่ใช้วัสดุ อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.05 ส่วนทัศนคติกับการปฏิบัติเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลของผู้ประสบเหตุ บนเส้นทางถนนเบิกไพบ้านโป่งพบว่า ผู้ประสบสาเหตุที่มีทัศนคติในระดับดี มีค่าเฉลี่ยคะแนนความรู้สูงกว่ากลุ่มที่มีทัศนคติในระดับต่ำและปานกลาง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 จากผลการศึกษาวิจัยครั้งนี้ จะเป็นแนวทางในการจัดระบบงานอุบัติเหตุฉุกเฉินของโรงพยาบาลบ้านโป่งให้มีประสิทธิภาพ สามารถให้บริการผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉินได้อย่างครอบคลุมโดยคำนึงถึงความปลอดภัยต่อชีวิตเป็นสำคัญ รวมทั้งการป้องกันภาวะเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดความพิการแก่ผู้ป่วยได้ และผลของการศึกษาวิจัยครั้งนี้จะเป็นข้อมูลสำคัญ ที่จะนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนางานบริการผู้ป่วย ณ จุดเกิดเหตุ(EMS) ของโรงพยาบาลบ้านโป่งให้มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานต่อไปในอนาคต

Keywords: ทัศนคติ, การปฐมพยาบาล, จราจร, การปฏิบัติตน, จิตวิทยา, อุบัติเหตุ, อำเภอบ้านโป่ง, อุบัติเหตุในชุมชน

ปีที่เผยแพร่/Year: 2542

Address: โรงพยาบาลบ้านโป่ง

Code: 20040000199

ISSN/ISBN: 974-291-983-6

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับการคัดเลือกนำเสนอในเวทีประชุมวิชาการ

Download: -