ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ธนะพงศ์ จินวงษ์และคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาพฤติกรรมการใช้สารเสพติดและปัจจัยที่เกี่ยวข้องในนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3 และ 5 จังหวัดนครราชสีมา

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 7, 1-3 กันยายน 2542 , ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ซิตี้ จอมเทียน จังหวัดชลบุรี, หน้า 1-2.

รายละเอียด / Details:

การศึกษานี้เป็นกิจกรรมหนึ่งในโครงการแก้ปัญหาสารเสพติดของจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นการดำเนินงานร่วมของสำนักงานสาธารณสุขและสามัญศึกษาจังหวัดนครราชสีมา โดยมีจุดประสงค์เพื่อทราบขนาดของปัญหา และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารเสพติดในนักเรียนมัธยมศึกษา วิธีการศึกษาใช้รูปแบบการสำรวจ โดยสุ่มเลือกโรงเรียนจากตัวแทนกลุ่มจำนวน 27 แห่ง จากจำนวน 109 โรง(ร้อยละ 25) จากนั้นเก็บข้อมูลจากนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3 และ 5 ทุกคนสำหรับเครื่องมือในการเก็บข้อมูล ใช้แบบสอบถามที่นักเรียนเป็นผู้ตอบเอง ไม่ระบุชื่อผู้ตอบและเน้นว่าเป็นความลับ(แยกระหว่างนักเรียนชายและหญิง) โดยเก็บข้อมูลจานักเรียนชาย ได้ 5,621 คน (ชั้น ม.3 จำนวน 3,521 คนและ ชั้น ม.5 จำนวน 2,091 คน) และนักเรียนหญิงรวบรวมข้อมูลได้ 7,071 คน (ชั้น ม.3 จำนวน 4,051 คน และ ม.5 จำนวน 3,020 คน) ผลการศึกษาพบว่า ร้อยละ 9.4 ของนักเรียนชาย ม.3 ตอบว่าเคยเสพยาบ้า และร้อยละ 2.64 ยังเสพอยู่ และร้อยละ 16.3 ของนักเรียนชาย ม.5 ระบุว่าเคยเสพยาบ้าโดยที่ร้อยละ 4.53 ยังเสพอยู่ สำหรับนักเรียนหญิงพบว่าเคยเสพยาบ้า ร้อยละ 0.5 และร้อยละ0.73 ในชั้น ม.3 และม.5 ตามลำดับนอกจากนี้ยังพบว่านักเรียนชายเคยสูบบุหรี่ ร้อยละ 37-43(ยังคงสูบอยู่ร้อยละ 10 ในนักเรียน ม.3 และร้อยละ 17.8 ใน นักเรียน ม.5) ในขณะที่การดื่มสุราอยู่ในสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 14-22 ของนักเรียนม.3 และ ม.5 ความคิดเห็นต่อการแก้ปัญหาในสถานศึกษา พบว่า หนึ่งในสามของนักเรียนชายไม่ทราบหรือทราบ แต่ไม่สนใจในนโยบายเรื่องยาบ้าของทางโรงเรียนกิจกรรมในสถานศึกษาเพื่อแก้ปัญหายาบ้าได้แก่โครงการเพื่อนเตือนเพื่อน การเรียนการสอนทักษะชีวิต การรณรงค์-นิทรรศการ มีนักเรียนที่ตอบว่าได้เข้าร่วมประมาณร้อยละ 30-40 และร้อยละ 20 ของนักเรียนทั้งหมดเสนอว่า ควรมีการปรับปรุง นอกจากนี้หนึ่งในสามของนักเรียนชายและหญิง ระบุว่ากิจกรรมที่มีอยู่ไม่เพียงพอ โดยเสนอให้ทางโรงเรียนเพิ่มกิจกรรมและเปิดโอกาสให้เข้าร่วมมากขึ้น(เช่น กีฬา ดนตรี สันทนาการและกิจกรรมร่วมระหว่างผู้ปกครองกับอาจารย์)ส่วนกิจกรรมรณรงค์ควรพัฒนารูปแบบให้ดึงดูดมากกว่าที่เป็นอยู่ พร้อมทั้งเสนอให้มีการกวดขันเรื่องพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องเพื่อไม่ให้เป็นแฟชั่นในหมู่นักเรียน ปัจจัยที่สัมพันธ์ (มีความเสี่ยง) ต่อการเสพยาบ้าของนักเรียนมัธยมอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ การสูบบุหรี่ (นักเรียนชาย OR=6.67,95%CI:5.6-28) รองลงมาคือการดื่มสุรา การเที่ยวสถานเริงรมย์ เที่ยวกลางคืน การไม่ตระหนักในนโยบายหรือกิจกรรมของทางโรงเรียน การมีทัศนคติที่ไม่ถูกต้องว่ายาบ้าไม่เป็นผลเสียกับตัวเอง(OR=4,42 2.06,3.17,3.29 ตามลำดับ) นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่สำคัญอื่นได้แก่การพักอาศัยที่หอพัก การมีรายได้ระหว่างในระดับที่สูงและอายุที่เพิ่มขึ้น ข้อเสนอจากการศึกษาครั้งนี้คือ 1) เร่งพัฒนากิจกรรมที่ดำเนินการอยู่ในสถานศึกษาที่เหมาะสมและครอบคลุมนักเรียนกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงได้มากขึ้น 2)เนื่องจากปัจจัยที่สัมพันธ์กับการเสพยาบ้าของนักเรียนมีสัดส่วนที่สูง เช่น การดื่มสุรา การเที่ยวกลางคืน การสูบบุหรี่ ฯลฯ ดังนั้น มาตรการแก้ปัญหาการเสพยาบ้าในสถานศึกษา ควรเน้นการลดปัจจัยเสี่ยงที่มีความสัมพันธ์กับการเสพยาบ้า ควบคู่ไปกับกิจกรรมที่แก้ปัญหาเรื่องยาบ้าโดยตรง 3) เพื่อให้การดำเนินงานแก้ปัญหาสามารถควบคุมเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องและมีความต่อเนื่อง จำเป็นต้องพัฒนาการทำงานเป็นทีมโดยอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควบคู่ไปกับการร่วมกันกำหนดเป้าหมาย วางแนวทางดำเนินงาน และจัดให้มีการประเมินผล เพื่อปรับปรุงให้กิจกรรมมีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น

Keywords: สารเสพติด, ทักษะชีวิต, บุหรี่, สุรา, พฤติกรรม, นักเรียนมัธยม, ยาเสพติด, ปัญหายาเสพติด, จิตวิทยา

ปีที่เผยแพร่/Year: 2542

Address: กลุ่มงานเวชกรรมสังคม รพ.มหาราชนครราชสีมา

Code: 20040000201

ISSN/ISBN: 974-291-983-6

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับการคัดเลือกนำเสนอในเวทีประชุมวิชาการ

Download: -