ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ธรพร พนาคุปต์

ชื่อเรื่อง/Title: ความพร้อมของบุคลากรสาธารณสุขในการดูแลผู้ป่วยโรคเอดส์ ที่บ้านและชุมชน จังหวัดปัตตานี

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 7, 1-3 กันยายน 2542 , ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ซิตี้ จอมเทียน จังหวัดชลบุรี, หน้า 176-178.

รายละเอียด / Details:

การศึกษาความพร้อมของบุคลากรสาธารณสุข ในการดูแลผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโรคเอดส์ที่บ้านและชุมชน จังหวัดปัตตานี มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความพร้อมด้านความรู้เรื่องโรคเอดส์ เจตคติ ต่อผู้ติดเชื้อ/ ผู้ป่วยเอดส์และประสบการณ์ในการดูแลผู้ติดเชื้อ และผู้ป่วยโรคเอดส์ด้านร่างกายและจิตใจเปรียบเทียบความรู้เรื่องโรคเอดส์และเจตคติต่อผู้ติดเชื้อ/ ผู้ป่วยเอดส์กับตัวแปรที่ศึกษาใช้รูปแบบการศึกษาวิจัยเชิงสำรวจ (Servy research) ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการรวบรวมข้อมูลกับบุคลากรสาธารณสุขในโรงพยาบาลทั่วไป/ ชุมชนและสถานีอนามัยของจังหวัดปัตตานี โดยกำหนดขนาดตัวอย่างร้อยละ 40 ของประชากร สุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงกับบุคลากรสาธารณสุขที่รับผิดชอบการป้องกันและควบคุมโรคเอดส์และการดูแลผู้ป่วยด้านร่างกายและจิตใจ จำนวน 373ตัวอย่าง ได้รับแบบสอบถามคืน 272 ชุด คิดเป็นร้อยละ 72.92 ตัวแปรอิสระได้แก่ เพศ อายุ ระดับการศึกษา ตำแหน่ง สถานที่ปฏิบัติงาน ระยะเวลาในการปฏิบัติงาน การผ่านการรอบรมหลักสูตรการให้บริการปรึกษาเรื่องโรคเอดส์ และประสบการณ์ในการดูแลผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ที่บ้านและชุมชนสำหรับตัวแปรตาม ได้แก่ ความรู้เรื่องโรคเอดส์และเจตคติผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ ใช้สถิติร้อยละ ค่าเฉลี่ย t-test การวิเคราะห์ความแปรปรวนอย่างเดียว ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุระหว่าง 20-30ปี การศึกษาอยู่ในระดับประกาศนียบัตร/อนุปริญญาด้านสาธารณสุข พยาบาลและผดุงครรภ์ มีอายุราชการระหว่าง 1-5 ปี ปฏิบัติงานในตำแหน่งเจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน อยู่ในสถานีอนามัย ผ่านการอบรมหลักสูตรการให้คำปรึกษาเรื่องโรคเอดส์เพียงร้อยละ45.6 และมีประสบการณ์ดูแลผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์ ด้านร่างกายและจิตใจเพียงร้อยละ 30.5 ส่วนความรู้เรื่องเอดส์พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 53.7 มีความรู้เรื่องโรคเอดส์ระดับปานกลาง และมีเจตคติเชิงบวกกับผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ถึงร้อยละ90.1 เมื่อนำมาทดสอบความแตกต่างระหว่างความรู้และเจตคติเรื่องโรคเอดส์ กับตัวแปรที่ศึกษา พบว่าสถานที่ปฏิบัติงานที่แตกต่างกัน มีความรู้เรื่องโรคเอดส์แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 โดยกลุ่มตัวอย่างที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลทั่วไป/ชุมชน มีคะแนนเฉลี่ยเรื่องโรคเอดส์สูงกว่ากลุ่มที่ปฏิบัติงานในสถานีอนามัย และกลุ่มอายุ ระดับการศึกษาตำแหน่งในการปฏิบัติงานที่แตกต่างกันไปของกลุ่มตัวอย่าง มีเจตคติต่อผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ0.05 โดยกลุ่มที่มีอายุต่ำกว่า-30ปี มีการศึกษาระดับปริญญาตรี/เทียบเท่าด้านพยาบาล หรือสาธารณสุข ปฏิบัติงานในตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ มีคะแนนเฉลี่ยเรื่องเจตคติต่อผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์สูงกว่ากลุ่มอื่นๆ ปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติงานบริการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อและผู้ป่วยโรคเอดส์ที่บ้าน พบว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไม่ทราบว่ามีผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยโรคเอดส์อยู่ในพื้นที่ รวมทั้งการไม่เปิดเผยตัวเองของผู้ติดเชื้อ และผู้ป่วยเอดส์ทำให้ไม่สามารถดูแลและรักษาอย่างต่อเนื่องได้ ผลจากการศึกษาวิจัยครั้งนี้ พบว่าบุคลากรสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี ผ่านการอบรบหลักสูตรให้คำปรึกษาเรื่องโรคเอดส์ยังไม่ครอบคลุมทุกสถานบริการ มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยโรคเอดส์เพียงร้อยละ30.5 ซึ่งส่วนใหญ่ปฏิบัติงานอยู่ในโรงพยาบาลทั่วไป/ชุมชนและมีความรู้เรื่องโรคเอดส์อยู่ระดับปานกลางโดยเฉพาะความรู้เรื่องการป้องกันการติดเชื้อจากการปฏิบัติหน้าที่ ยังอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยที่ไม่สูงนัก (ร้อยละ59.2) จึงควรมีการอบรมการฟื้นฟูหรือเพิ่มศักยภาพในการดูแลผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ให้มีความมั่นใจพร้อมที่จะดูแลผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ให้มีความมั่นใจพร้อมที่จะดูแลผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ที่บ้านและชุมชน รวมทั้งพัฒนาระบบส่งต่อผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ในรายที่สมัครใจให้ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องที่บ้านและชุมชนต่อไป

Keywords: โรคเอดส์, บุคลากร, ความพร้อม, เจตคติ, การดูแล, จิตวิทยา, สุขภาพจิต, ผู้ป่วยเอดส์, บุคลากรสาธารณสุข

ปีที่เผยแพร่/Year: 2542

Address: สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี

Code: 20040000209

ISSN/ISBN: 974-291-983-6

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับการคัดเลือกนำเสนอในเวทีประชุมวิชาการ

Download: -