ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: การุณย์ หงส์กาและคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: การใช้กระบวนการกลุ่มเพื่อส่งเสริมการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 7, 1-3 กันยายน 2542 , ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ซิตี้ จอมเทียน จังหวัดชลบุรี, หน้า 380-381.

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมสุขภาพตนเองของผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ติดเชื้อไวรัสเอดส์ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ข้อมูลข่าวสาร ได้มีส่วนร่วมในการช่วยและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน มีความเข้มแข็งและสามารถเผชิญกับปัญหาชีวิตที่เกิดขึ้นได้ วิธีการศึกษา ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ประชากรเป็นผู้ติดเชื้อไวรัสเอดส์ ที่ผ่านการให้การปรึกษามาตรวจรักษาที่คลินิกโรคติดเชื้อ ตึกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลขอนแก่น ยินยอมเข้าร่วมกระบวนการกลุ่มระหว่างเดือนพฤษภาคม-กันยายน 2542 จำนวน 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ โปรแกรมกระบวนการกลุ่ม แบบประเมินความเข็มแข็ง อดทน ผลลัพธ์ของการเผชิญปัญหาและการดูแลสุขภาพของบุคคลที่ติดเชื้อและแบบประมินผลหลังการเข้ากลุ่ม วิธีการวิจัย การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยปฏิบัติการ พยาบาลให้การปรึกษาเป็นผู้ดำเนินกระบวนการกลุ่ม โดยแบ่งกลุ่มผู้ติดเชื้อเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 10 คน ใช้กระบวนการกลุ่มแบบกลุ่มสนับสนุนในการสนทนา กลุ่มละ 3 ครั้งๆ ละ 60 นาที แต่ละครั้งห่างกัน 1 เดือน การสนทนากลุ่มครั้งแรกจะเป็นการสร้างสัมพันธภาพระหว่างสมาชิก มีการพูดคุยปัญหา และความต้องการของตนเอง ครั้งที่สองจะเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดูแลตนเอง และครั้งที่สามจะเป็นการแสดงความคิดเห็น เสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาและร่วมกันวางแผนในการดูแลสุขภาพตนเอง การประเมินผล กลุ่มตัวอย่างจะได้รับการประเมินก่อน ระหว่างและหลังการเข้ากลุ่ม ผลการวิจัย หลังเข้ากลุ่ม 3 ครั้ง ผลการทดสอบความแตกต่างของค่าคะแนนเฉลี่ยความเข้มแข็ง อดทนและผลลัพธ์ของการเผชิญปัญหา และการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ติดเชื้อก่อนและหลังการเข้ากลุ่ม พบว่าภายหลังการเข้ากลุ่มค่าคะแนนเฉลี่ยสูงขึ้นกว่าก่อนเข้ากลุ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.001 จากการสังเกตเชิงคุณภาพพฤติกรรมของสมาชิกกลุ่ม ด้านจิตใจผู้ติดเชื้อมีความวิตกกังวลลดลง กล้าเปิดเผยสภาวะการติดเชื้อต่อครอบครัวและชุมชน สำหรับการประเมินผลหลังเข้ากลุ่มครั้งที่ 3 โดยใช้แบบประเมินผลหลังการเข้ากลุ่มพบว่าสมาชิกได้รับความรู้ และข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ 94.7% ลดความวิตกกังวลได้ 82.4% และมีความรู้สึกที่ดีต่อเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล รวมทั้งมีความพึงพอใจในการให้บริการ 73.6% ข้อเสนอแนะ จากผลการใช้กระบวนการกลุ่มเพื่อส่งเสริมการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ติดเชื้อได้รับความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพตนเองมากขึ้น เข้าใจการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับครอบครัวและชุมชน มีความเข้มแข็ง อดทน และสามารถเผชิญกับปัญหา ลดความวิตกกังวล สร้างความรู้สึกพึงพอใจ และมีทัศนคติที่ดีต่อสถานบริการ น่าที่จะนำการสนทนากลุ่มมาใช้ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสเอดส์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการนำวิธีการนี้ไปประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยโรคอื่นๆ ต่อไป

Keywords: สุขภาพ, กระบวนการกลุ่ม, กลุ่มกิจกรรม, กลุ่มบำบัด, โรคเอดส์, ผู้ป่วยเอดส์, การปรึกษา, โปรแกรมกระบวนการกลุ่ม

ปีที่เผยแพร่/Year: 2542

Address: โรงพยาบาลขอนแก่น

Code: 20040000215

ISSN/ISBN: 974-291-983-6

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับการคัดเลือกนำเสนอในเวทีประชุมวิชาการ

Download: -