ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: พัชรี บุญสุวรรณ

ชื่อเรื่อง/Title: พฤติกรรมการดูแลสุขภาพด้วยตนเองของผู้ติดเชื้อ HIV ในโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 7, 1-3 กันยายน 2542 , ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ซิตี้ จอมเทียน จังหวัดชลบุรี, หน้า 382-383.

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการดูแลสุขภาพด้วยตนเองของผู้ติดเชื้อ HIV และศึกษาความคิดเห็น/ความเชื่อเกี่ยวกับปัจจัยที่อาจมีผลต่อการดูแลสุขภาพของผู้ติดเชื้อ HIV วิธีการศึกษา เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ติดเชื้อ HIV ทุกระยะยกเว้นผู้ป่วยที่มีอาการสมองเสื่อมจากการติดเชื้อเอดส์ และทราบผลเลือดอย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งมารับการตรวจที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2540-30 กันยายน 2540 จำนวน 60 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือแบบสัมภาษณ์ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับสถานภาพของบุคคล แบบสัมภาษณ์พฤติกรรมในการดูแลสุขภาพด้วยตนเองของผู้ติดเชื้อ HIV ซึ่งแบ่งเป็นหมวดส่งเสริมสุขภาพชะลอการเกิดโรค หมวดการป้องกันการติดเชื้อและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ หมวดการดูแลตนเองเมื่อมีอาการเจ็บป่วย และคำถามความคิดเห็น/ความเชื่อเกี่ยวกับปัจจัยที่อาจมีผลต่อการดูแลสุขภาพของผู้ติดเชื้อ HIV ผู้วิจัยเก็บข้อมูลด้วยตนเอง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียสัน การทดสอบไค-สแคว์ การทดสอบความเชื่อมั่นของแบบสัมภาษณ์ พฤติกรรมในการดูแลสุขภาพด้วยตนเองของผู้ติดเชื้อ HIV ด้วยค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์อัลฟาของครอนบาคได้เท่ากับ 0.79 ผลการศึกษา พฤติกรรมในการดูแลสุขภาพด้วยตนเองของผู้ติดเชื้อ HIV และผู้ป่วยเอดส์ที่ควรได้รับการช่วยเหลือคือหมวดการส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรง และชะลอการเกิดโรคได้แก่ การปรึกษาพูดคุย ขอความช่วยเหลือจากคนในครอบครัว (X=2.70,SD=1.21)การออกกำลังกาย (X=2.75, SD=1.02) การพูดคุยระบายความเครียด ความวิตกกังวลกับคนในครอบครัว เพื่อน เจ้าหน้าที่ทางสุขภาพ (X=2.90, SD=1.40) การร่วมกิจกรรมต่างๆ กับสมาชิกในสังคม (X=3.00 SD=0.99) หมวดการป้องกันการติดเชื้อและการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อได้แก่ การแยกซักเสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน (X=2.85, SD=1.36) การกำจัดขยะที่เปื้อนเลือด เสมหะ น้ำเหลือง (X=2.98, SD=1.12) การป้องกันการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ (X=3.08, SD=1.11) การดูแลตนเองเมื่อมีอาการเจ็บป่วย ได้แก่การดูแลตนเองเมื่อมีอาการเหนื่อยหอบ (X=2.18,SD=1.27) การดูแลตนเองเมื่อมีอาการท้องเสีย (X=2.28,SD=1.29) การดูแลตนเองเมื่อมีอาการเบื่ออาหาร (X=2.97, SD=1.10) การสังเกตความผิดปกติของลักษณะจำนวน อุจจาระ ปัสสาวะ (X=3.00,SD=1.06) ข้อมูลเกี่ยวกับความคิดเห็น/ความเชื่อเกี่ยวกับปัจจัยที่อาจมีผลต่อการส่งเสริมสุขภาพร้อยละ 43.3 ของผู้ติดเชื้อ HIV เชื่อว่าการยืดระยะเวลาจากการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อ HIV มีวิธีเดียวคือ การรับประทานยาต้านไวรัสเอดส์ร้อยละ 60 ของผู้ติดเชื้อ HIV เชื่อว่าการรับประทานสมุนไพรบางชนิดจะช่วยยืดระยะเวลาของการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อ ร้อยละ 95 มีความเห็นว่าควรมีศูนย์ให้ผู้ติดเชื้อมาปฏิบัติกิจกรรมในการส่งเสริมสุขภาพและร้อยละ 98.3 คิดว่าผู้ให้คำแนะนำในการส่งเสริมสุขภาพแก่ผู้ติดเชื้อควรเป็นบุคลากรทางการแพทย์ ได้แก่ แพทย์ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ และผู้ติดเชื้อด้วยกันตามลำดับ

Keywords: พฤติกรรม, สุขภาพ, เอดส์, ความเชื่อ, การดูแล, สุขภาพจิต, จิตวิทยา

ปีที่เผยแพร่/Year: 2542

Address: โรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา

Code: 20040000216

ISSN/ISBN: 974-291-983-6

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับการคัดเลือกนำเสนอในเวทีประชุมวิชาการ

Download: -