ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: รัชนี วีระสุขสวัสดิ์

ชื่อเรื่อง/Title: ภาวะสุขภาพจิตและความต้องการการช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตของเจ้าหน้าที่ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 7, 1-3 กันยายน 2542 , ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ซิตี้ จอมเทียน จังหวัดชลบุรี, หน้า 389-390.

รายละเอียด / Details:

ในการวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาวะสุขภาพจิตและความต้องการการช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตของเจ้าหน้าที่และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับภาวะสุขภาพจิต วิธีการ เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นข้าราชการ 270 คน ลูกจ้างประจำ 100 คน ลูกจ้างเงินบำรุง 103 คน รวมเป็นจำนวน 473 คน โดยแบ่งชั้นสุ่มตามสัดส่วนของประชากร เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นแบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล และคำถามปลายเปิดถึงความต้องการการช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต ส่วนที่สองเป็นแบบสอบถามภาวะสุขภาพจิต GHQ – 30 ฉบับภาษาไทย ที่แปลโดย ผศ.นพ.ธนา นิลชัยโกวิทย์และคณะ ที่ได้หาความเชื่อมั่นด้วยค่าสัมประสิทธิอัลฟาครอนบาคเท่ากับ 0.84 – 0.94 มีความไวเท่ากับ ร้อยละ 84.4 – 89.7 และคณะผู้วิจัยได้หาค่าความเชื่อมั่นของแบบวัด GHQ – 30 ได้เท่ากับ 0.88 และเก็บรวบรวมข้อมูลโดยสุ่มเก็บในเจ้าหน้าที่ทุกระดับทุกหน่วยงานคัดเลือกเฉพาะฉบับที่สมบูรณ์ได้ 473 ฉบับ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรม SPSS/PC+ ผลการศึกษา พบว่ากลุ่มตัวอย่างมีแนวโน้มเกิดปัญหาสุขภาพจิตเฉลี่ยร้อยละ 15.4 โดยเฉพาะในกลุ่มลูกจ้างเงินบำรุงมีแนวโน้มถึงร้อยละ 19.4 ผู้มีสุขภาพเจ็บป่วยเรื้อรังมีแนวโน้มเกิดปัญหาสุขภาพจิต ร้อยละ 28.6 ส่วนผู้ที่มีปัญหาสัมพันธภาพภายในครอบครัวแบบสัมพันธภาพกับเพื่อนร่วมงาน มีโอกาสเกิดปัญหาสุขภาพจิตถึง ร้อยละ 38.1 และ 33.0 ตามลำดับ ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับภาวะสุขภาพจิตได้แก่ ปัจจัยด้านเศรษฐานะ ภาวะสุขภาพร่างกาย การเจ็บป่วยทางจิต สัมพันธภาพในครอบครัว และสัมพันธภาพกับเพื่อนร่วมงาน มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P=0.01,p=0.05) ส่วนระยะเวลาในการปฏิบัติงาน ตำแหน่งข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และลูกจ้างเงินบำรุง พบว่าไม่มีความสัมพันธ์กับภาวะสุขภาพจิต ส่วนความต้องการการช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต กลุ่มตัวอย่างได้เสนอแนะในเรื่องการจัดอบรมเรื่อง คลายเครียด ความรู้เรื่องสุขภาพจิต ธรรมบริหารจิต ให้มากกว่าเดิม ขอให้มีห้องสันทนาการที่มีอุปกรณ์คลายเครียด และการขอสนับสนุนด้านสวัสดิการโดยเฉพาะในกลุ่มลูกจ้างเงินบำรุง เมื่อเกิดภาวะเครียด ผู้บริหารและหัวหน้างาน ควรให้กำลังใจและช่วยเหลือ ส่วนบริการ Hot line เสนอแนะให้มีสายเฉพาะบุคลากรในโรงพยาบาลอีก 1 สาย

Keywords: สุขภาพจิต, ความสัมพันธ์, ครอบครัว, เจ้าหน้าที่, โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ , คุณภาพชีวิต, จิตวิทยา

ปีที่เผยแพร่/Year: 2542

Address: โรงพยาบาลสรรพสิทธิ์ประสงค์

Code: 20040000220

ISSN/ISBN: 974-291-983-6

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับการคัดเลือกนำเสนอในเวทีประชุมวิชาการ

Download: -