ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ฉวี อภิสุนทราวงศ์

ชื่อเรื่อง/Title: การเปรียบเทียบความแตกต่างของพฤติกรรมการเผชิญความเจ็บปวดในระยะคลอดระหว่างมารดาที่ได้รับการเตรียมคลอดกับมารดาที่ไม่ได้รับการเตรียมคลอดที่โรงพยาบาลลพบุรี

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 7, 1-3 กันยายน 2542 , ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ซิตี้ จอมเทียน จังหวัดชลบุรี, หน้า 394-395.

รายละเอียด / Details:

การวิจัยในครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง (Qausi-experinental Research) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบความแตกต่าง ระหว่างมารดาที่ได้รับการเตรียมคลอดกับมารดาที่ไม่ได้รับการเตรียมคลอดในเรื่องพฤติกรรมการเผชิญความเจ็บปวดในระยะคลอด ระยะเวลาการคลอดและความรู้เกี่ยวกับการคลอดโดยศึกษาในมารดาครรภ์แรกที่ถูกเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ตามคุณสมบัติที่กำหนด แล้วใช้วิธีสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) แบ่งออกเป็นกลุ่มควบคุมคือมารดาที่ไม่ได้รับการเตรียมคลอดจำนวน 30 ราย และกลุ่มศึกษาคือมารดาที่ได้รับการเตรียมคลอดจำนวน 30 ราย ดำเนินการเตรียมคลอดด้วยวิธีการที่ดัดแปลงมาจากวิธีของ Lamaze และเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล แบบบันทึกพฤติกรรมการเผชิญความเจ็บปวดในระยะคลอดแบบบันทึกข้อมูลการคลอดตามแบบทดสอบความรู้เกี่ยวกับการคลอด วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ T-test ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างทั้งหมดมีพื้นฐานทางอายุ ระดับการศึกษา อาชีพ และความรู้เกี่ยวกับการคลอด ก่อนดำเนินการศึกษาไม่แตกต่างกัน ภายหลังการศึกษาพบว่า มารดาที่ได้รับการเตรียมคลอด มีพฤติกรรมที่เผชิญความเจ็บปวดในระยะคลอดดีกว่า มีระยะเวลาการคลอดในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ของการคลอดน้อยกว่า รวมทั้งมีความรู้เกี่ยวกับการคลอดสูงกว่า มารดาที่ไม่ได้รับการเตรียมคลอดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P-value‹0.01) ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการเตรียมคลอดทำให้ผู้คลอดมีทัศนคติที่ดี มีความมั่นใจในการคลอด ความกลัวและความวิตกกังวลลดลง ความสามารถในการปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการแสดงออกของพฤติกรรมการเผชิญความเจ็บปวดในทางที่ดี มีความพึงพอใจต่อผลลัพธ์ของการคลอด เกิดประสบการณ์การคลอดในเชิงบวก ซึ่งนับว่ามีความสำคัญต่อการสร้างสัมพันธภาพระหว่างมารดาและทารกอย่างมาก งานห้องคลอด กลุ่มงานการพยาบาล โรงพยาบาลลพบุรี จึงได้สนับสนุนให้มีการดำเนินการเตรียมคลอดต่อไป ทั้งขยายบริการสำหรับผู้ที่มารับบริการฝากครรภ์ทุกราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหญิงตั้งครรภ์แรก และส่งเสริมให้บุคลากรทางการพยาบาลได้มีความรู้ความสามารถในการเตรียมคลอดเพิ่มเพื่อให้นำไปใช้ให้บริการฝากครรภ์ได้มากขึ้น อันนำไปสู่คุณภาพการพยาบาลของงานอนามัยแม่และเด็กที่สูงขึ้นต่อไป

Keywords: พฤติกรรม, สัมพันธภาพ, ความกลัว, พฤติกรรมการเผชิญความเจ็บปวด, สุขภาพจิต, จิตวิทยา, คลอดบุตร, การพยาบาลจิตเวช, การพยาบาล, ปวด, ภาวะปวดครรภ์คลอด

ปีที่เผยแพร่/Year: 2542

Address: โรงพยาบาลลพบุรี

Code: 20040000223

ISSN/ISBN: 974-291-983-6

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับการคัดเลือกนำเสนอในเวทีประชุมวิชาการ

Download: -