ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: บุญชัย นวมงคลวัฒนาและคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: ศึกษาการเสียชีวิตของผู้ป่วยในโรงพยาบาลจิตเวช 12 แห่ง

แหล่งที่มา/Source: การสัมมนาระบาดวิทยาแห่งชาติ ครั้งที่ 17, ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพมหานคร, 19-21 พฤษภาคม 2547, หน้า 27-28.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล: ผู้ป่วยโรคจิตเวชมีอัตราเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่าประชาชนทั่วไปซึ่งมีอัตราอยู่ระหว่าง 1.7-10 เท่า เมื่อเทียบกับประชาชนทั่วไป ผลการวิจัยที่ผ่านมาพบการเสียชีวิตในกลุ่มอายุ และเพศ มีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับแต่ละการศึกษา สาเหตุการเสียชีวิตที่พบมากที่สุด คือ การฆ่าตัวตายโดยเฉพาะผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โรคแทรกซ้อนทางกายที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตที่พบ คือ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด ในกลุ่มผู้ป่วยโรคจิต การเสียชีวิตได้สูง ในผู้ป่วยโรคจิตเภทและผู้ปวยโรคจิตที่มีสาเหตุจากโรคทางกาย (Organic Psychosis) ผู้ป่วยที่เสียชีวิตในโรงพยาบาลเป็นการเสียชีวิตอย่างปัจจุบันทันด่วนโดยไม่ทราบสาเหตุประมาณ ร้อยละ 2.5-19 โดยมีความสัมพันธ์กับการใช้ยาต้านอาการโรคจิต คือ Thioridazine และ Chlorpromzine ซึ่งพบว่าความหนักแน่นของความสัมพันธ์เพิ่มขึ้นตามปริมาณยาที่ได้รับ วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาลักษณะการเสียชีวิตของผู้ป่วยในโรงพยาบาลจิตเวช 12 แห่ง วิธีการศึกษา เป็นการศึกษา Hospital based แบบ cross-sectional study กลุ่มตัวอย่างได้มาแบบ purposive sampling โดยเป็นผู้ป่วยที่รับใหม่และผู้ป่วยเก่าคงพยาบาลทุกรายที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาลจิตเวช 12 แห่ง สังกัดกรมสุขภาพจิต ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2546-30 มิถุนายน 2546 จำนวนทั้งหมด 12,356 ราย เก็บข้อมูลเกี่ยวกับระบาดวิทยาของผู้ป่วยที่เสียชีวิตในโรงพยาบาล และวิเคราะห์อัตราการเสียชีวิตในแต่ละโรงพยาบาลนำเสนอข้อมูลด้วยความถี่ ร้อยละ และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการศึกษา มีผู้ป่วยที่เสียชีวิตในโรงพยาบาลจิตเวชระหว่างการศึกษาจำนวน 19 ราย คิดเป็นความชุก ร้อยละ 0.15 ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 52.6 มีอายุต่ำสุด คือ 31 ปี สูงสุด คือ 77 ปี อายุเฉลี่ย 52.11 ปี ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 14.64 โดยเป็นการเสียชีวิตอย่างปัจจุบันทันด่วนโดยไม่ทราบสาเหตุ จำนวน 9 ราย คิดเป็นร้อยละ ต่อการเสียชีวิต ร้อยละ 47.37 โรงพยาบาลที่พบการเสียชีวิตมากที่สุด คือ ศรีธัญญา พบจำนวน 9 ราย (ร้อยละ 52.63) รองลงมา ได้แก่ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา จำนวน 3 ราย ร้อยละ 15.79 และสวนสราญรมย์กับพระศรีมหาโพธิ์ เท่ากัน คือ แห่งละ 2 ราย ร้อยละ 10.53 สาเหตุการเสียชีวิตที่สอบสวนได้ คือ ด้วยโรคทางกายเฉพาะร้อยละ 36.8 ไม่ทราบสาเหตุ ร้อยละ 36.8 ส่วนสาเหตุของการเสียชีวิตตามที่ระบุในใบรับรองการตายพบมากที่สุด คือไม่มีข้อมูล ร้อยละ 63.1 รองลงมาคือ ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ร้อยละ 21.0 ระยะเวลาที่พบการเสียชีวิตพบมากที่สุดเท่ากันคือ 8.00-16.00 น. และ 24.00-08.00 น. ร้อยละ 36.8 เป็นผู้ป่วยกลุ่มโรค F.20.9 มากที่สุด คือ ร้อยละ 52.6 ผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้รับยาต้านอาการโรคจิตกลุ่มเก่า จำนวน 13 ราย ร้อยละ 68.3 และไม่ได้รับยาต้านอาการโรคจิต จำนวน 4 ราย ร้อยละ 21.1 และเป็นที่น่าสังเกตว่า ร้อยละ 84.2 มีการปรับเปลี่ยนชนิดหรือปริมาณของยาในระหว่างการรักษา สรุป การเสียชีวิตของผู้ป่วยในโรงพยาบาลจิตเวช โดยกลุ่มที่ควรมีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ เพศหญิง อายุตั้งแต่ 52 ปี เป็นต้นไป โรงพยาบาลขนาดใหญ่จะพบการเสียชีวิตมาก ผู้ป่วยกลุ่มโรค F20.9 ใช้ในการวางแผนป้องกันและจัดตั้งระบบเฝ้าระวังการเสียชีวิตในโรงพยาบาลจิตเวชได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Keywords: การศึกษา, การเสียชีวิต, โรงพยาบาลจิตเวช, จิตเวชศาสตร์, จิตเวช, ผู้ป่วยโรคจิต, โรคซึมเศร้า, จิตเภท, ยารักษาโรคจิต, ยาต้านโรคจิต

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์

Code: 20040000225

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับการคัดเลือกนำเสนอในเวทีประชุมวิชาการ

Download: -