ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: เตือนตา วิโรจน์อุไรเรือง, ดารนี ชัยอิทธิพร

ชื่อเรื่อง/Title: ผลการปรุงแต่งพฤติกรรมผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพ ระยะที่ 1 โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์

แหล่งที่มา/Source: การสัมมนาระบาดวิทยาแห่งชาติ ครั้งที่ 17, ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพมหานคร, 19-21 พฤษภาคม 2547, หน้า 29-30.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล จากผลการสำรวจศักยภาพผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรัง โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ พบว่าผู้ป่วยคงพยาบาล ณ เดือนมกราคม 2546 จำนวน 452 ราย เป็นผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังที่อยู่รับการรักษานานติดต่อกันตั้งแต่ 3 ปี ขึ้นไป จำนวน 202 ราย คิดเป็นร้อยละ 44.69 ผู้ป่วยเหล่านี้ยังมีศักยภาพเหลืออยู่ สามารถเรียนรู้ได้ พัฒนาได้ ด้วยความต้องการลดภาระในการดูแลผู้ป่วยเหล่านี้ด้วยการแปลงภาระให้เป็นพลัง ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้ สร้างผลผลิตได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงต้องการพัฒนาโปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงได้พัฒนาโปรแกรมการจัดสิ่งแวดล้อมขึ้น และทดลองนำมาใช้กับผู้ป่วยกลุ่มตัวอย่าง จนกว่าจะได้โปรแกรมที่เหมาะสมดังกล่าว วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาพฤติกรรมที่เกิดขึ้นภายหลังให้โปรแกรมจัดสิ่งแวดล้อม โดยใช้หลักการเรียนรู้ ซึ่งใช้เทคนิคของการปรุงแต่งพฤติกรรมชนิดวางเงื่อนไขแบบลงมือกระทำ (Operant conditioning) กับการส่งเสริมทางสังคมที่เป็นบวก (Positive social reinforcement) ให้แก่ผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรัง วิธีการศึกษา เป็นวิจัยแบบ Quasi Experimental ประชากร คือ ผู้ป่วยที่รับไว้รักษาที่โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ ระหว่างเดือนมกราคม-ธันวาคม 2546 กลุ่มตัวอย่าง คัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง ได้แก่ ผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรัง หอผู้ป่วยฟื้นฟูสมรรถภาพชาย-หญิง ที่รับไว้รักษานานตั้งแต่ 3 ปี ขึ้นไป จำนวน 61 ราย เครื่องมือวิจัย คือ โปรแกรมจัดสิ่งแวดล้อม ตารางประเมินพฤติกรรมและคณะผู้วิจัย วิเคราะห์ข้อมูล โดยเปรียบเทียบพฤติกรรมระหว่างครั้งที่ของการประเมินต่างๆ กันที่ทำการประเมินทีละพฤติกรรม ด้วยสถิติวิเคราะห์ One way analysis of variance สำหรับพฤติกรรมการทำงาน ทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยของตัวแปรตามเป็นรายคู่ ด้วยสถิติ Paired samples t test ผลการศึกษา พบว่า ภายหลังให้โปรแกรมจัดสิ่งแวดล้อมแล้วผู้ป่วยในเงื่อนไขให้โปรแกรมการจัดสิ่งแวดล้อม และผู้ป่วยในเงื่อนไขควบคุมมีพฤติกรรม การแปรงฟัน การอาบน้ำ การแต่งกาย การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การกีฬา การทำงาน การร่วมกิจกรรมการอยู่ร่วมกัน การพูดคุยทักทายในกลุ่มเพื่อน/บุคลาการ ความไว้วางใจพยาบาล การฟัง/โต้ตอบเป็นคำพูด การคิด/การแสดงความคิด การบอกความรู้สึกของตนเอง แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ณ ระดับ .05 (p‹.05) สรุปและเสนอแนะ จากผลการทดลองพบว่า 1) โปรแกรมจัดสิ่งแวดล้อมที่จัดให้เหมาะสมในการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในกลุ่มตัวอย่าง 2) ยืนยันว่าผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังยังมีศักยภาพสามารถเรียนรู้ได้เมื่อได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพอย่างเหมาะสม ควรศึกษาต่อยอดจากครั้งนี้ รวมทั้งขยายความซับซ้อนของโปรแกรมอย่างเหมาะสมและครอบคลุมผู้ป่วยประเภทอื่นๆ และพัฒนากลุ่มที่ดีกว่าเพื่อนเป็น "พี่เลี้ยง" กลุ่มที่ด้อยกว่าต่อไป

Keywords: พฤติกรรมผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรัง, การฟื้นฟูสมรรถภาพ

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์

Code: 20040000226

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับการคัดเลือกนำเสนอในเวทีประชุมวิชาการ

Download: -