ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ชัยพร ยิ่งเจริญพาสุข

ชื่อเรื่อง/Title: ความสัมพันธ์ระหว่างยาต้านโรคจิตกับอัตราการหลั่งน้ำลายในผู้ป่วยจิตเภท

แหล่งที่มา/Source: การสัมมนาระบาดวิทยาแห่งชาติ ครั้งที่ 17, ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพมหานคร, 19-21 พฤษภาคม 2547, หน้า 33-34

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ผู้ป่วยจิตเภทคือบุคคลที่มีการเจ็บป่วยทางด้านจิตใจ ความสามารถในการดูแลสุขภาพตัวเองลดลง ผู้ป่วยจิตเภทมีสุขอนามัยช่องปากไม่ดี ปัจจัยที่ส่งเสริมทำให้ผู้ป่วยโรคจิตมีปัญหาทางทันตกรรมมากกว่าปกติ คือ ระยะเวลาการเจ็บป่วย กลุ่มโรค ความกลัวการทำฟัน ปัญหาเศรษฐฐานะ มีหลักฐานที่ชี้ชัดว่าการใช้ยาบำบัดทางจิตเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ผู้ป่วยจิตเวชมีปัญหาทางทันตกรรม การใช้ยาทางจิตเวช พบว่ามีฤทธิ์ข้างเคียงของยาเหล่านี้จะมีผลทำให้เกิดภาวะปากแห้ง (Xerostomia) การหลั่งน้ำลายลดน้อยลง (Hyposalivation) ในระยะยาวเป็นปัจจัยให้เกิดโรคฟันผุและโรคปริทันต์ วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของยาต้านอาการโรคจิตต่ออัตราการหลั่งน้ำลายแบบไม่กระตุ้นในผู้ป่วยจิตเภท วิธีการศึกษา เป็นการศึกษากึ่งทดลอง Quasi Experimental Research กลุ่มทดลอง คือ ผู้ป่วยจิตเภทที่มารับบริการเป็นผู้ป่วยรับไว้รักษาของโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ครั้งแรก ระหว่าง 1 เมษายน ถึง 30 กันยายน 2546 เกณฑ์คัดเลือกผู้ป่วย คือ 1. ผู้ป่วยจิตเภทที่ได้รับยา chlorpromazine haloperidal และได้รับ Trihexyphenidy ตามความจำเป็น 2. เป็นผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคจิตเภทครั้งแรกหากเป็นผู้ป่วยครั้งรอง จะต้องขาดยาไม่น้อยกว่า 1 เดือน จำนวน 53 ราย เก็บน้ำลายทุกวันเช้าและบ่ายเป็นเวลา 21 วัน กลุ่มควบคุมคือบุคลากรโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ ที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว และไม่ได้รับยาต้านอาการโรคจิต สุ่มตัวอย่างแบบบังเอิญ จำนวน 101 ราย แล้วนำค่าเฉลี่ยอัตราการหลั่งน้ำลายของกลุ่มควบคุมและกลุ่มเปรียบเทียบมาเปรียบเทียบกันโดยใช้สถิติ ได้แก่ t-test analysis และ odds ratio ผลการศึกษา กลุ่มทดลองจำนวน 53 ราย เป็นเพศชายร้อยละ 84.9 มีอายุระหว่าง 20-39 ปี มากที่สุด ร้อยละ 85.0 ได้รับยา chlorpromazine 100 mg/day ร้อยละ 63.5 แบะ 50 mg/day ร้อยละ 32.7 ได้รับยา haloperidal 20 mg/day ร้อยละ 46.2 และ 15 mg/day ร้อยละ 42.3 อัตราการหลั่งน้ำลายเฉลี่ยสัปดาห์ที่ 1,2ล3 ได้แก่ 0.227521, 0.321594 และ 0.350772 ตามลำดับ กลุ่มควบคุม จำนวน 101 ราย เป็นเพศชาย ร้อยละ 66.3 มีอายุระหว่าง 30-49 ปี มากที่สุด ร้อยละ 71.3 อัตราการหลั่งน้ำลายเฉลี่ย เท่ากับ 0.576040 เมื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของอัตราการหลั่งน้ำลายสัปดาห์ที่ 1,2,3 ในกลุ่มทดลองกับของกลุ่มควบคุม แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P-value = 0.000) เมื่อจัดแบ่งอัตราการหลั่งน้ำลายเป็นกลุ่มและนำมาเปรียบเทียบพบว่ากลุ่มทดลองมีอัตราการหลั่งน้ำลายในระดับ ‹0.16 ml/min OR=13.23 (95% CI=4.15-44.26),P-value=0.00 และอัตราการหลั่งน้ำลายในระดับ 0.17-0.30 ml/min OR=2.29 (95% CI=1.21-7.26), P-value=0.01 เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการหลั่งน้ำลายที่ระดับ 0.30-0.65 ml/min สรุป ยา chlorpromazine และ haldoperidal ส่งผลให้อัตราการหลั่งน้ำลายลดลง ทันตแพทย์สามารถนำข้อมูลไปประกอบการพัฒนาแนวทางการดูแลสภาวะทันตสุขภาพของผู้ป่วยจิตเภท

Keywords: ความสัมพันธ์, ชนิดและปริมาณยาต้านอาการโรคจิต, อัตราการหลั่งน้ำลาย, ผู้ป่วยโรคจิต, จิตเภท, จิตเวช, ยาบำบัดทางจิต, ยารักษาโรคจิต, ยาต้านโรคจิต, ยา, อัตราการหลั่งน้ำลาย, อาการข้างเคียง, side effect, antipsychotic drug

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ อุบลราชธานี

Code: 20040000228

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับการคัดเลือกนำเสนอในเวทีประชุมวิชาการ

Download: -