ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สมคิด จันที

ชื่อเรื่อง/Title: แนวโน้มพฤติกรรมที่สัมพันธ์ต่อการติดเชื้อเอ็ชไอวีนักเรียนชายชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ในสาธารณสุขที่ 6 ปี พ.ศ. 2541-2546

แหล่งที่มา/Source: การสัมมนาระบาดวิทยาแห่งชาติ ครั้งที่ 17, ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพมหานคร, 19-21 พฤษภาคม 2547, หน้า 37-38

รายละเอียด / Details:

หลักและเหตุผล การพบผู้ติดเชื้อเอ็ชไอวีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จัดว่าเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญมาตลอด ปัจจัยที่ทำให้เชื้อเอชไอวี คงแพร่ระบาดอยู่ คือการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีมากกว่าปัจจัยอย่างอื่น ข้อมูลการเฝ้าระวังผู้ป่วยเอดส์ของสำนักระบาดวิทยา พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอายุ 25-39 ปี กลุ่มอายุที่มีความสัมพันธ์ต่อการติดเชื้อเอ็ชไอวี คือกลุ่มวัยรุ่นที่เริ่มเป็นผู้ใหญ่ อายุ 15-29 ปี หากกลุ่มดังกล่าวมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การมีเพศสัมพันธ์ที่สำส่อน และไม่ใช้ถุงยางอนามัย จะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญยิ่ง ทำให้ปัญหาการระบาดของเชื้อเอ็ชไอวีคงมีอยู่ การพบผู้ป่วยเอดส์ก็จะเพิ่มมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุขได้จัดตั้งระบบเฝ้าระวังพฤติกรรมฯ เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับติดตามเตือนภัยการระบาดของเชื้อเอ็ชไอวี และใช้เป็นดัชนีชี้ให้เห็นแนวโน้มสภาพปัญหาเบื้องต้น ในเขตที่ 6 ได้ดำเนินการเช่นเดียวกัน เพื่อนำความรู้ไปประกอบการวางแผนแก้ไขปัญหาเอดส์ในพื้นที่และเหมาะสมต่อไป วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาระบาดวิทยาเชิงพรรณนา ใช้ข้อมูลทุติยภูมิจากการเฝ้าระวังพฤติกรรมที่สัมพันธ์ต่อการติดเชื้อเอ็ชไอวี ของนักเรียนชายชั้น ม.5 ในเขต 6 ระหว่างปี พ.ศ. 2541-2546 วิธีการศึกษา ศึกษาระบาดวิทยาเชิงพรรณนา ใช้ข้อมูลทุตยภูมิจากการเฝ้าระวังพฤติกรรมที่สัมพันธ์ต่อการติดเชื้อเอ็ชไอวี ของนักเรียนชายชั้น ม.5 ในเขต 6 พื้นที่ละ 350 ราย สุ่มอย่างง่ายหาโรงเรียนเป้าหมาย เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามที่เป็นมาตรฐาน ให้นักเรียนอ่านและตอบคำถามเอง โรงเรียนที่มีนักเรียนเป้าหมายมากกว่า 350 ราย จะสุ่มอย่างเป็นระบบ หากน้อยกว่า 350 รายเก็บข้อมูลทุกคน ดำเนินการตามที่สำนักระบาดวิทยากำหนด วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรม Epi info 6 แจกแจงข้อมูลเป็นจำนวน ร้อยละ และค่ามัธยฐาน ผลการศึกษา นักเรียนชายชั้น ม. 5 ในเขต 6 มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกอายุเฉลี่ย 15 ปี พฤติกรรมที่สัมพันธ์ต่อการติดเชื้อเอ็ชไอวี คือ การเคยมีเพศสัมพันธ์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสูงอย่างชัดเจนในปี พ.ศ. 2546 เท่ากับร้อยละ 20.3 การไม่ใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกมีแนวโน้มสูงขึ้นและสูงสุดในปี พ.ศ. 2546 เท่ากับร้อยละ 67.4 การมีเพศสัมพันธ์ในรอบปีที่ผ่านมากลุ่มดังกล่าวมีเพศสัมพันธ์กับหญิงขายบริการทางเพศ หรือหญิงที่ต้องการสิ่งตอบแทน มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างช้าๆ ปี พ.ศ. 2546 เท่ากับร้อยละ 19.6 การมีเพศสัมพันธ์กับแฟนหรือเพื่อนสนิท ในระยะ 2 ปี ที่ผ่านมาแนวโน้มยังคงที่ ปี พ.ศ. 2546 ร้อยละ 62.3 แต่การมีเพศสัมพันธ์กับหญิงอื่นที่รู้จักเพียงผิวเผินหรือไม่รู้จักกันมาก่อน มีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน สูงสุดในปี พ.ศ. 2546 เท่ากับน้อยละ 37 การใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ มีแนวโน้มคงที่ในกลุ่มคนรักหรือเพื่อนสนิท แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในกลุ่มหญิงขายบริการทางเพศและกลุ่มหญิงอื่น พฤติกรรมเสี่ยงที่น่าเป็นห่วงคือ ในรอบปีที่ผ่านมาจำนวนหญิงอื่นที่นักเรียนชายกลุ่มนี้มีเพศสัมพันธ์ด้วยมากกว่า 1 ราย ร้อยละ 62.6 สรุป จากผลการศึกษา บ่งบอกถึงแนวโน้มของการพบผู้ติดเชื้อเอ็ชไอวี ที่ยังคงเพิ่มสูงอยู่ในอนาคตได้ จึงควรมีการรณรงค์ให้ความรู้ เรื่องการติดเชื้อเอ็ชไอวีและโรคเอดส์ ที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะการลดพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ พร้อมกับส่งเสริมค่านิยมที่ถูกต้อง การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย และเหมาะสมในวัยอันสมควร เพื่อให้เกิดความรู้ เข้าใจและเกิดความตระหนักต่อการป้องกัน การติดเชื้อเอ็ชไอวี รู้จักป้องกันตัวเองไม่ให้นำไปสู่การติดเชื้อเอ็ชไอวี จากการมีพฤติกรรมเสี่ยงและไม่ถูกต้องของตัวเอง

Keywords: นักเรียนชาย, พฤติกรรมเสี่ยง, เอชไอวี, จิตวิทยา, สุขภาพจิต, วัยรุ่น, เอดส์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 ขอนแก่น

Code: 20040000230

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับการคัดเลือกนำเสนอในเวทีประชุมวิชาการ

Download: -