ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: พันธ์ทิพย์ โกศัลวัฒน์และคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: ศึกษาจำนวนวันนอนเฉลี่ยของผู้ป่วยในโรงพยาบาลจิตเวช

แหล่งที่มา/Source: การสัมมนาระบาดวิทยาแห่งชาติ ครั้งที่ 17, ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพมหานคร, 19-21 พฤษภาคม 2547, หน้า 83-84.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ปัจจัยที่มีผลต่อจำนวนวันนอนในโรงพยาบาลของผู้ป่วยจิตเวช ได้แก่ 1) การวินิจฉัยทางจิตเวชและการได้รับการรักษาเฉพาะ 2) การขาดการควบคุมและขาดการทบทวนในการวินิจฉัยโรค การรักษาด้วยยาแบบผู้ป่วยนอก การรับผู้ป่วยไว้รักษาแบบฉุกเฉินซึ่งมักไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วย 3) การตอบสนองต่อยาของอาการผิดปกติทางจิตเวช 4) ผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อน และการรักษาด้วยยาไม่ได้ผลการรักษาที่ไม่ต่อเนื่อง 5) ปัจจัยส่วนบุคคล จำนวนวันนอนในโรงพยาบาลเป็นเครื่องชี้วัดคุณภาพและการประเมินผลการรักษาพยาบาล เมื่อจำนวนวันนอนในโรงพยาบาลมาก ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของผู้ป่วยและครอบครัว วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาจำนวนวันนอนเฉลี่ยและปัจจัยที่มีผลต่อจำนวนวันนอนเฉลี่ยของผู้ป่วยในโรงพยาบาลจิตเวช 12 แห่ง วิธีการศึกษา เป็นการศึกษา Hospital-based แบบ Cross-sectional study กลุ่มตัวอย่างได้มาแบบ purposive sampling โดยเป็นผู้ป่วยที่รับใหม่ และผู้ป่วยเก่าคงพยาบาลทุกรายที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาลจิตเวช 12 แห่ง สังกัดกรมสุขภาพจิต ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม-30 มิถุนายน 2546 จำนวน 12,356 ราย จำนวนกลุ่มตัวอย่างที่นำมาวิเคราะห์ได้จำนวน 8,619 ราย แยกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มศึกษา คือผู้ป่วยที่มีจำนวนวันนอนมากกว่า 21 วัน และกลุ่มเปรียบเทียบ คือผู้ป่วยที่มีจำนวนวันนอนน้อยกว่าหรือเท่ากับ 21 วัน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยความถี่ ร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าเฉลี่ย มัธยฐาน ฐานนิยม univariate และ Multivariate analysis ผลการศึกษา จำนวนวันนอนเฉลี่ยของผู้ป่วยในโรงพยาบาลจิตเวช 12 แห่ง เฉลี่ย 92.31 วัน มัธยฐาน 23 วัน โรงพยาบาลที่มีจำนวนวันนอนเฉลี่ยสูงสุดได้แก่ โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ โรงพยาบาลศรีธัญญา โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น เท่ากับ 273.53, 107.35, 87.97 วัน ตามลำดับ โรงพยาบาลที่มีจำนวนวันนอนเฉลี่ยน้อยที่สุด ได้แก่ โรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ เท่ากับ 16.90 วัน เมื่อวิเคราะห์ด้วยตัวแปรเชิงซ้อน พบว่า ปัจจัยสำคัญที่มีความสัมพันธ์กับจำนวนวันนอนของผู้ป่วย ได้แก่ เพศ โดยเพศชายมีความสัมพันธ์กับจำนวนวันนอนมากกว่าเพศหญิงเป็น 1.66 เท่า สถานภาพสมรสโสด มีความสัมพันธ์กับจำนวนวันนอนมากกว่าสถานภาพสมรสคู่ เป็น 2.00 เท่า ฐานะเศรษฐกิจของครอบครัวยากจนมีความสัมพันธ์กับจำนวนวันนอนมากกว่าพอมีพอกินแต่มีหนี้สินเป็น 1.52 เท่า อาชีพว่างงานมีความสัมพันธ์กับจำนวนวันนอนมากกว่ารับราชการ/รัฐวิสาหกิจ เป็น 2.24 เท่า การไม่มีผู้ดูแลหลักมีความสัมพันธ์กับจำนวนวันนอนมากกว่าผู้ดูแลหลักเป็น 1.36 เท่า บทบาททางเศรษฐกิจของผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นผู้หารายได้มีความสัมพันธ์กับจำนวนวันนอนมากกว่าบทบาทเป็นผู้หารายได้หลักเป็น 1.51 เท่า การจ่ายค่ารักษาเองมีความสัมพันธ์กับจำนวนวันนอนมากกว่าการเบิกค่ารักษา/การใช้สิทธิบัตรเป็น 1.59 เท่า ความสามารถในการช่วยเหลือตนเอง โดยสามารถช่วยเหลือตนเองได้แต่ต้องมีผู้กระตุ้นมีความสัมพันธ์กับจำนวนวันนอนมากกว่าการช่วยเหลือตนเองได้เป็น 1.18 เท่า ผู้ป่วยที่มีการวินิจฉัยโรคว่าเป็นจิตเภท พฤติกรรมแบบจิตเภทและความหลงผิด (F40-F48.9) เป็น 1.99 เท่า (95% CI=1.73-2.29) การติดเชื้อขณะอยู่รับการรักษาในโรงพยาบาลมีความสัมพันธ์กับจำนวนวันนอนมากกว่าการไม่ได้ติดเชื้อขณะอยู่รับการรักษาในโรงพยาบาลเป็น 1.63 เท่า สรุป ปัจจัยที่มีผลต่อจำนวนวันนอนเฉลี่ยของผู้ป่วยในโรงพยาบาลจิตเวช นำไปใช้ในการวางแผนในการจัดระบบการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพควรให้ความสำคัญ เช่น การวินิจฉัยโรค แผนการดูแลรักษาพยาบาล การติดเชื้อ การให้การรักษาพิเศษจากการมีภาวะแทรกซ้อน ฯลฯ

Keywords: จำนวนวันนอน, โรงพยาบาลจิตเวช, ผู้ป่วยจิตเวช, โรคจิต, จิตเวช, คุณภาพ,

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์

Code: 20040000234

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับการคัดเลือกนำเสนอในเวทีประชุมวิชาการ

Download: -