ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: กมลรัตน์ จิตติชัยโรจน์

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาโปรแกรมฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดสุรา

แหล่งที่มา/Source: บทคัดย่อผลงานวิชาการสาธารณสุข ประจำปี 2547, นำเสนอในการประชุมวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 12, ณ โรงแรมรอยัลภูเก็ต ซิตี้ จังหวัดภูเก็ต, 24-27 สิงหาคม 2547, หน้า 246.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ในปัจจุบันการใช้ชีวิตของกลุ่มผู้ติดสารเสพติดที่ผิดกฎหมายมีแนวโน้มการใช้ชีวิตที่ต้องอาศัยการดื่มสุราทดแทน เพราะเป็นสารเสพติดที่ไม่ผิดกฎหมาย ขณะติดตามมักปฏิเสธเสมอว่าตนไม่ได้ติดสุรา โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จึงเห็นความสำคัญในการพัฒนาโปรแกรมให้เหมาะสมสำหรับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดสุราต่อไป วัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาโปรแกรมที่เหมาะสมในการฟื้นฟูสมรรถภาพสำหรับผู้ติดสุรา ขอบเขตการวิจัย ผู้รับการบำบัดเพศชาย ที่มีประวัติการดื่มสุราตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ผู้สมัครใจที่จะเข้าร่วมโครงการและเคยทดลองใช้วิธีอื่นในการเลิกดื่มสุราแล้วไม่ได้ผล จาก ต,โคกกรวด รวมทั้งสิ้น 10 คน ระเบียบวิธีวิจัย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย แบบประเมินก่อนเข้ารับบริการ, แบบสัมภาษณ์ผู้ป่วยที่มีปัญหาการดื่มสุรา, แบบบันทึกข้อเท็จจริง, แบบประเมินอาการขาดสุรา (Ci WA-Ar) แบบทดสอบโรคติดเหล้าของมิชิแกน (MAST), เครื่องวัดระดับแอลกอฮอล์ (AUDIT) การเก็บรวบรวมข้อมูล ดำเนินการเก็บข้อมูลครั้งแรกก่อนเข้ารับการบำบัด และมีการประเมินหลังจบโปรแกรม และมีการติดตามประเมินผล 3 ครั้ง ในระยะเวลา 75 วัน การวิเคราะห์ข้อมูล ใช้การจำแนกประเภทของข้อมูล (typological analysis) การเปรียบเทียบข้อมูล (comparison) การตีความข้อมูล (interpretation) การอธิบายสาเหตุและการเชื่อมโยงข้อมูล สรุปผลการวิจัย ภายใน 75 วัน มีผู้สามารถเลิกดื่มสุราได้ทั้งสิ้น 6 คน และมีผู้ที่หวนกลับไปดื่มสุรา 4 คน โดย 2 คน เริ่มดื่มสุราทันทีที่ออกจากการบำบัด และ 1 คน เริ่มดื่มหลังจากออกจากการบำบัด 2 วัน คนสุดท้ายดื่มหลังจากออกจากการบำบัดประมาณ 2 เดือน และพบว่า สิ่งที่ทำให้ผู้เข้ารับการบำบัดสามารถเลิกดื่มสุราได้ คือ 1. การตั้งเป้าหมายของชีวิต 2. ผลดีที่ได้รับจากการเลิกดื่มสุรา 3. ระบบคิดที่เปลี่ยนไป 4. วิธีการในการหลีกเลี่ยงการดื่มสุราที่เหมาะสมกับตนเองและได้วางแผนไว้ก่อนกลับเข้าสู่ชุมชน 5. การมีส่วนร่วมของครอบครัว 6. ชุมชน 7. แรงผลักดันและแรงจูงใจภายในของผู้เข้ารับการบำบัด สิ่งที่ทำให้เกิดความล้มเหลวในการเลิกดื่มสุราของผู้เข้ารับการบำบัด 4 คน คือ 1. การขาดแรงผลักดันและแรงจูงใจ 2. สังคมรอบข้างขัดขวางการเลิกดื่มสุรา 3. ครอบครัวไม่มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ เนื่องจากขาดความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของสุราและมีคติกับผู้ดื่มสุรา ข้อเสนอแนะ 1. การสรรหาบุคคลในครอบครัวในการมีส่วนร่วมในการบำบัดที่เหมาะสม 2. ควรแยกกิจกรรมที่ดำเนินการกับญาติออกจากการรับรู้ของผู้ป่วยในวันแรกของกิจกรรมของญาติ 3. ควรมีการเตรียมชุมชนเพื่อรองรับการกลับเข้าสู่ชุมชนของผู้เข้ารับการบำบัด

Keywords: แรงจูงใจ, ครอบครัว, การฟื้นฟูสมรรถภาพ, สุรา, สารเสพติด, การบำบัด, ยาเสพติด, ผู้ติดสารเสพติด, เหล้า, การบำบัด, โปรแกรมฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดสุรา, ดื่มสุรา, ดื่มเหล้า

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ กรมสุขภาพจิต

Code: 20040000237

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 12 .

Download: -