ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ปริญญา ผกานนท์

ชื่อเรื่อง/Title: โครงการเมาไม่ขับต้อนรับเทศกาลสงกรานต์

แหล่งที่มา/Source: บทคัดย่อผลงานวิชาการสาธารณสุข ประจำปี 2547, นำเสนอในการประชุมวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 12, ณ โรงแรมรอยัลภูเก็ต ซิตี้ จังหวัดภูเก็ต, 24-27 สิงหาคม 2547, หน้า 29.

รายละเอียด / Details:

การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจแบบตัดขวาง (Crossectional Research) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอัตราการดื่มสุราของผู้ขับขี่ยานยนต์ในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานีช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดื่มสุราลงร้อยละ 10 ซึ่งได้นำมาตรการการตรวจจับผู้ขับขี่เมาสุราตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก มาตรา 43(2) มาเป็นกิจกรรมหลัก กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาได้แก่ผู้ขับขี่ยานยนต์บนถนนในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี สุ่มตัวอย่างโดยวิธี Accidental sampling ได้ตัวอย่างทั้งสิ้น 6,640 ตัวอย่าง ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในผู้ขับขี่ยานยนต์ด้วย Breath Analyser ชนิดพกพาและชนิดตั้งโต๊ะ เครื่อง Spectophotometor เพื่อตรวจยืนยัน มีการกำหนดจุดตรวจบนถนนสายหลักที่มีการจราจรหนาแน่นและมีลักษณะถนนที่เอื้อต่อการขับขี่ที่ใช้ความเร็วสูง จำนวน 9 สาย และถนนสายรองอีก 10 สาย รวมเป็น 19 สาย แบ่งช่วงเวลาการตั้งจุดตรวจ เป็น 8 ช่วง ดำเนินการตั้งจุดตรวจตั้งแต่วันที่ 1 – 30 เมษายน 2547 เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลได้แก่ แบบบันทึกกิจกรรมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจและแบบบันทึกรายงานการเฝ้าระวังการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของศูนย์นเรนธร ตัวแปรที่ศึกษา คือ อัตราการดื่มสุราของผู้ขับขี่ยานยนต์ที่มีระดับแอลกอฮอล์ > 50mg% และจำนวนผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนที่มารับบริการในโรงพยาบาลทุกแห่งในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าสถิติร้อยละ ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 19-35 ปี เป็นผู้ขับขี่จักรยานยนต์มากที่สุด อัตราการดื่มสุราของผู้ขับขี่ยานยนต์ทุกประเภทร้อยละ 8 พบผู้ขับขี่ที่ดื่มสุรามีระดับแอลกอฮอล์ >50mg% ร้อยละ 0.7 ซึ่งถูกดำเนินคดีทุกรายโดยที่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ถูกดำเนินคดีมากที่สุด นอกจากนั้นยังพบว่าผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ลดลง ร้อยละ 8.7 ไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนผู้บาดเจ็บที่เกี่ยวข้องกับการดื่มสุราลดลงร้อยละ 30.3 จะเห็นได้ว่าการนำมาตรการตรวจจับผู้ขับขี่ที่เมาสุราอย่างจริงจังและต่อเนื่องมีผลทำให้ผู้ที่ดื่มสุราขับขี่ยานยนต์น้อยลงมีผลทำให้จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลดลงอย่างเห็นได้ชัด จึงเห็นสมควรสนับสนุนให้มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและขยายผลไปยังพื้นที่อื่นต่อไป

Keywords: แอลกอฮอล์, อุบัติเหตุ, ผู้ขับขี่ยานยนต์, สารเสพติด, ยาเสพติด, เหล้า, สุรา, ดื่มสุรา, ระดับแอลกอฮอล์, อัตราการดื่มสุรา, โครงการเมาไม่ขับ, สงกรานต์, เทศการสงกรานต์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: สำนักงานสาธารณสุข จ.อุบลราชธานี

Code: 20040000238

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 12 .

Download: -