ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ลำยงค์ เชื้อลิ้นฟ้า

ชื่อเรื่อง/Title: การอภิบาลผู้ป่วยด้วยรักและเมตตา

แหล่งที่มา/Source: บทคัดย่อผลงานวิชาการสาธารณสุข ประจำปี 2547, นำเสนอในการประชุมวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 12, ณ โรงแรมรอยัลภูเก็ต ซิตี้ จังหวัดภูเก็ต, 24-27 สิงหาคม 2547, หน้า 54.

รายละเอียด / Details:

บทนำ : หอผู้ป่วยหนักเป็นการอภิบาลผู้ป่วยในระยะวิกฤต ซึ่งอยู่ในระหว่างความเป็นและความตาย และเป็นหน่วยแห่งความมืดสำหรับผู้ป่วยและญาติ การเปิดโอกาสให้ญาติได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการรักษาพยาบาล การให้ญาติได้อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยในวาระสุดท้ายและได้ประกอบพิธีกรรมด้านความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรมประเพณีถือว่าเป็นการผ่อนคลายความทุกข์และสร้างความพึงพอใจซึ่งสอดคล้องกับการประกาศสิทธิผู้ป่วยและพรบ.สุขภาพแห่งชาติ วัตถุประสงค์ : เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของผู้ป่วยและญาติในการปฏิบัติต่อผู้ป่วยระยะสุดท้ายและวัดความพึงพอใจของญาติต่อการอภิบาลผู้ป่วยระยะสุดท้าย วิธีการศึกษา : เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการในการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยหนักศัลยกรรมและได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายทุกราย ระหว่างเดือนตุลาคม 2546 – มีนาคม 2547 จำนวน 44 คน และญาติจำนวน 132 คน เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถาม และแบบเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล ด้วยค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน ผลการวิจัย : พบว่า ญาติได้รับการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย จำนวน 132 คน ผู้ป่วยระยะสุดท้ายเสียชีวิตท่ามกลางญาติมิตร จำนวน 44 คน ญาติประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรมและประเพณี เช่น พิธีขอขมาและการขออโหสิกรรม จำนวน 40 ครั้ง ประกอบพิธีทางศาสนาโดยพระสงฆ์ จำนวน 11 ครั้ง มีการสวดมนต์ของญาติเพื่อให้เกิดความสบายใจ จำนวน 72 ครั้ง และพิธีจุดธูปนำทางเมื่อเสียชีวิต จำนวน 18 ครั้ง ทีมสุขภาพได้ร่วมฝึกประสบการณ์การให้คำปรึกษาครบทุกคน ลดการ CPR ไปได้จำนวน 39 คน (ร้อยละ 90) คิดเป็นเงิน 39,000 บาท ความพึงพอใจของญาติต่อการอภิบาลผู้ป่วยระยะสุดท้ายรวมทุกด้านอยู่ในระดับมาก (X=3.84, SD=0.86) และความพึงพอใจกับระยะเวลานอนรักษามีความสัมพันธ์ปานกลางในทางบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 โดยค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน (r) เท่ากับ 0.58 บทสรุป : การมีส่วนร่วมและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของทีมสุขภาพและญาติเป็นการลดมุมมองห้องแห่งความมืดของญาติต่อหอผู้ป่วยหนัก ลดความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยและญาติสร้างความพึงพอใจต่อการบริการและหน่วยงาน และผู้ป่วยได้เลือกตายอย่างมีศักดิ์ศรีถือว่าเป็นระยะสุดท้ายของชีวิตที่เป็นเมตตามรณะ

Keywords: ความพึงพอใจ, การดูแลผู้ป่วย, การพยาบาลจิตเวช, การพยาบาล, อภิบาล, รัก, เมตตา, หอผู้ป่วยหนัก, ระยะวิกฤต, การพยาบาลผู้ป่วยระยะวิกฤต, การพยาบาลผู้ป่วยระยะสุดท้าย

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: รพ.มหาสารคาม

Code: 20040000239

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 12 .

Download: -