ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: นิตยา ธีรวิโรจน์

ชื่อเรื่อง/Title: ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการนอนหลับในผู้ป่วยสามัญ โรงพยาบาลบุรีรัมย์

แหล่งที่มา/Source: บทคัดย่อผลงานวิชาการสาธารณสุข ประจำปี 2547, นำเสนอในการประชุมวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 12, ณ โรงแรมรอยัลภูเก็ต ซิตี้ จังหวัดภูเก็ต, 24-27 สิงหาคม 2547, หน้า 56.

รายละเอียด / Details:

บทนำ : การนอนหลับมีความจำเป็นต่อร่างกายและจิตใจในคนทุกเพศทุกวัย ทั้งในเวลาปกติและเจ็บป่วย เมื่อบุคคลต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยเฉพาะในผู้ป่วยสามัญซึ่งมีผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก แออัด มีความเป็นส่วนตัวน้อยและมีการปฏิบัติกิจกรรมการรักษาพยาบาลเกือบตลอด 24 ชั่วโมง ผู้ป่วยมักถูกรบกวนการพักผ่อนนอนหลับ เป็นปัจจัยที่เพิ่มภาระเครียดทางด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งมีผลต่อการฟื้นสภาพจากความเจ็บป่วยและความสำคัญอย่างยิ่งต่อประสิทธิภาพในการรักษาพยาบาล วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาคุณภาพการนอนหลับของผู้ป่วยสามัญ ความสัมพันธ์ของคุณภาพการนอนหลับ สิ่งรบกวนการนอนหลับ วิธีที่ผู้ป่วยสามัญจัดการกับปัญหาการนอนไม่หลับ วิธีการศึกษา : เป็นการวิจัยเชิงบรรยาย กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยสามัญในกลุ่มอายุรกรรม สูติกรรม ศัลยกรรม ศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ เข้ารับการรักษาระหว่างเดือนมกราคม 2547 – มีนาคม 2547 ซึ่งได้รับการคัดเลือกตามเกณฑ์ที่กำหนดจำนวน 362 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกออบด้วยแบบวัดคุณภาพการนอนหลับที่ศิวาภรณ์ โกศลแปล และดัดแปลงจากแบบวัดคุณภาพการนอนหลับของเวอร์แรนและสไนเดอร์ ฮาล์เพิร์น (VSH Sleep Scale) และแบบสอบถามเกี่ยวกับสิ่งรบกวนการนอนหลับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ การแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานสหสัมพันธ์เพียร์สัน ผลการศึกษา : ผลจากการศึกษาพบว่าคุณภาพการนอนหลับอยู่ในระดับปานกลาง (x= 85.35 SD=10.08 range = 0 –150) คุณภาพการนอนหลับมีความสัมพันธ์แบบผกผัน กับสิ่งรบกวนการนอนหลับ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ ความกลัว (P=.038) ความวิตกกังวล (P=.011) กิจกรรมการรักษาพยาบาล (P=.006) วิธีที่ผู้ป่วยสามัญเลือกใช้ในการจัดการกับปัญหาการนอนไม่หลับมากที่สุดได้แก่ เปลี่ยนท่านอน ทำสมาธิ ปรึกษาแพทย์หรือพยาบาล ตามลำดับ วิจารณ์และสรุป : ผู้ป่วยสามัญมีสิ่งรบกวนการนอนหลับหลายประการ การช่วยให้ผู้ป่วยพักผ่อนได้อย่างเพียงพอ โดยการปรับปรุงระบบการทำงานและระบบการดูแลผู้ป่วยให้รบกวนการนอนหลับของผู้ป่วยให้น้อยที่สุด การลดความวิตกกังวลโดยค้นหาปัญหาของผู้ป่วยเป็นรายบุคคล และให้ความช่วยเหลือเท่าที่จะสามารถทำได้ เป็นการเอื้ออำนวยให้ผู้ป่วยสามารถนอนหลับได้อย่างมีคุณภาพ ข้อเสนอแนะ : ควรศึกษาถึงวิธีการเพิ่มคุณภาพการนอนหลับในผู้ป่วยสามัญ

Keywords: ความเครียด, การดูแลผู้ป่วย, การนอนหลับ, ความสัมพันธ์, การพยาบาลจิตเวช, การพยาบาล, นอนหลับ, การพยาบาลจิตใจ, คุณภาพ, ปัญหานอนไม่หลับ, คุณภาพการนอน

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: โรงพยาบาลบุรีรัมย์

Code: 20040000240

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 12 .

Download: -