ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สุวารี อยู่ยอด

ชื่อเรื่อง/Title: ผลการใช้แบบประเมินความเจ็บปวดหลังการผ่าตัด

แหล่งที่มา/Source: บทคัดย่อผลงานวิชาการสาธารณสุข ประจำปี 2547, นำเสนอในการประชุมวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 12, ณ โรงแรมรอยัลภูเก็ต ซิตี้ จังหวัดภูเก็ต, 24-27 สิงหาคม 2547, หน้า 58.

รายละเอียด / Details:

ความเป็นมา : ผู้ป่วยหลังผ่าตัดที่ได้รับการระงับความรู้สึกแบบทั่วไปส่วนใหญ่มีอาการปวดแผลตั้งแต่เริ่มรู้สึกตัวขณะยังอยู่ในห้องพักฟื้น การบำบัดความเจ็บปวดให้ผู้ป่วยในห้องพักฟื้นจึงมีบทบาทสำคัญในการลดความทุกข์ทรมานและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากการปวดแผลผ่าตัด วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาผลการใช้แบบประเมินความเจ็บปวดในผู้ป่วยหลังผ่าตัดที่ได้รับการระงับความรู้สึกแบบทั่วไป รูปแบบการศึกษา : การศึกษาเชิงทดลองทางคลินิก สถานที่ศึกษา : โรงพยาบาลกำแพงเพชร วิธีการศึกษา : ศึกษาผู้ป่วยหลังผ่าตัดที่ได้รับการระงับความรู้สึกแบบทั่วไปในห้องพักฟื้น 156 ราย จัดผู้ป่วยด้วยวิธีสุ่มเป็น 2 กลุ่ม คือผู้ป่วยที่ใช้แบบประเมินความเจ็บปวด Wong-Baker Face Pain Rating Scale ประเมินความเจ็บปวดเป็นระยะเพื่อให้ยาระงับปวด (กลุ่มศึกษา) และผู้ป่วยที่ไม่ได้ใช้แบบประเมินความเจ็บปวดแต่ให้ยาระงับปวดตามที่ปฏิบัติอยู่เดิม (กลุ่มเปรียบเทียบ) บันทึกระดับความเจ็บปวดก่อนย้ายออกจากห้อง พักฟื้นประเมินความต้องการยาระงับปวดเมื่อถึงหอผู้ป่วยและภายใน 24 ชั่วโมงต่อมา และประเมินความพึงพอใจของผู้ป่วยภายหลังการผ่าตัด 1 วัน ผลการศึกษา : ผู้ป่วยในการศึกษา 156 ราย เป็นผู้ป่วยที่ใช้แบบประเมินความเจ็บปวด 78 ราย และไม่ได้ใช้แบบประเมิน 78 ราย ทั้ง 2 กลุ่มมีลักษณะทั่วไป ลักษณะที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บปวด การผ่าตัดและวิธีการระงับความรู้สึกไม่แตกต่างกัน ระหว่างที่อยู่ในห้องพักฟื้นผู้ป่วยที่ใช้แบบประเมินความเจ็บปวดได้รับยาระงับปวดมากกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้ใช้แบบประเมิน (53.7% และ 23.0%,p‹ 0.001) ก่อนจำหน่ายออกจากห้องพักฟื้น ผู้ป่วยที่ใช้แบบประเมินความเจ็บปวดมีอาการปวดในระดับปานกลางถึงมาก น้อยกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้ใช้แบบประเมิน (26.9% และ 42.3%, p = 0.043) เมื่อย้ายเข้าหอผู้ป่วย ผู้ป่วยที่ใช้แบบประเมินความเจ็บปวดต้องการยาระงับปวดทันทีน้อยกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้ใช้แบบประเมิน (17.9% และ 38.5% , p = 0.004) และภายหลังการผ่าตัด 1 วัน ผู้ป่วยที่ใช้แบบประเมินความเจ็บปวดมีความพึงพอใจมากกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้ใช้แบบประเมิน (98.5% และ 80.5%, p< 0.001) สรุป : การดูแลความเจ็บปวดของผู้ป่วยในห้องพักฟื้น ตามแบบประเมินความเจ็บปวดทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลบำบัดอาการปวดแผลอย่างต่อเนื่องและครอบคลุม เพิ่มประสิทธิภาพการระงับปวดในห้องพักฟื้น ลดความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย และทำให้ผู้ป่วยมีความพึงพอใจมากขึ้น

Keywords: ความเจ็บปวดหลังการผ่าตัด แบบประเมินความเจ็บปวด, ภาวะปวด, ความพึงพอใจ, สุขภาพจิต

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: รพ.กำแพงเพชร

Code: 20040000241

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 12 .

Download: -