ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ธีระภัทร์ นาชิต

ชื่อเรื่อง/Title: ระดับการปฏิบัติกิจกรรมในการดูแลผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกและความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมในการดูแลผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกกับความเครียดของผู้ดูแลผู้ป่วย โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา

แหล่งที่มา/Source: บทคัดย่อผลงานวิชาการสาธารณสุข ประจำปี 2547, ในการประชุมวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 12, เมืองไทยสุขภาพดี วิถีพัฒนาที่มั่นยืน, ณ โรงแรมรอยัลภูเก็ต ซิตี้ จังหวัดภูเก็ต 24-27 สิงหาคม 2547, หน้า 145.

รายละเอียด / Details:

บทนำ กิจกรรมการดูแลผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกหลายด้านต้องอาศัยความรู้ ความชำนาญและมีความจำเพาะในการปฏิบัติ ซึ่งผู้ดูแลผู้ป่วยมักประสบปัญหาในการดูแล เกิดความวิตกกังวล ความทุกข์ใจและมีความเครียดจากที่ต้องปรับเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก การศึกษาถึงระดับการปฏิบัติกิจกรรมในการดูแลผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก และความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมในการดูแลผู้ป่วยกับความเครียดของผู้ดูแลผู้ป่วยจะทำให้บุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องนำไปวางแผนบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาระดับการปฏิบัติกิจกรรมของผู้ดูแลในการดูแลผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก รพ.มหาราชนครราชสีมา และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมในการดูแลผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกกับความเครียดของผู้ดูแล วิธีการศึกษา เป็นการศึกษาแบบบรรยายความสัมพันธ์ กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาคือ ผู้ดูแล ซึ่งเป็นสมาชิกในครอบครัวของผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกที่เข้ามารับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูในแผนกกายภาพบำบัด รพ.มหาราชนครราชสีมา จำนวน 30 ราย ซึ่งได้มาจากการเลือกแบบเจาะจงในช่วงวันที่ 1 มิถุนายน-31 สิงหาคม 2546 ใช้แบบประเมินความเครียด และแบบประเมินการปฏิบัติกิจกรรมในการดูแลผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก เป็นเครื่องมือในการรวบรวมข้อมูล สถิติที่ใช้คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน ผลการศึกษา พบว่าผู้ดูแลปฏิบัติกิจกรรมในการดูแลผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก ร้อยละ 45.55 ปฏิบัติกิจกรรมในการดูแลผู้ป่วยด้านการสื่อสารอยู่ในระดับมาก ด้านการรับรู้ปฏิบัติอยู่ในระดับปานกลาง ผู้ดูแลร้อยละ 63.33 ปฏิบัติกิจกรรมการดูแลด้านภาวะแทรกซ้อนอยู่ในระดับไม่ปฏิบัติและเมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมในการดูแลผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกกับความเครียดของผู้ดูแล พบว่ากิจกรรมด้านการสวมใส่เสื้อผ้า ด้านภาวะแทรกซ้อน มีความสัมพันธ์กับความเครียด (r=0.46 และ 0.40 ตามลำดับ) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 สำหรับกิจกรรมการดูแลด้านการรับประทานอาหาร การเคลื่อนไหว การขับถ่าย การอาบน้ำ การนอน การสื่อสาร และการรับรู้ไม่มีความสัมพันธ์กับความเครียดของผู้ดูแลผู้ป่วย สรุปและข้อเสนอแนะ ผู้ดูแลมีระดับการปฏิบัติกิจกรรมในการดูแลผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกในแต่ละด้านแตกต่างกันโดยกิจกรรมที่ผู้ดูแลส่วนมากไม่ปฏิบัติคือด้านภาวะแทรกซ้อนซึ่งเป็นกิจกรรมที่จะทำให้ผู้ป่วยมีความพิการมากยิ่งขึ้นหากผู้ป่วยถูกละเลย และมีบางกิจกรรมในการดูแลที่มีความสัมพันธ์กับความเครียดของผู้ดูแล ดังนั้นการสร้างความตระหนักแก่ผู้ดูแล ถึงบทบาทการดูแลผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกในระยะที่ผู้ป่วยกลับไปอยู่ร่วมกับครอบครัว เป็นสิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องพัฒนากระบวนการให้ได้รับความร่วมมือจากผู้ดูแลมากยิ่งขึ้นโดยที่ต้องให้ความสำคัญต่อสุขภาพจิตของผู้ดูแลด้วยเสมอ

Keywords: ความเครียด, อัมพาต, ความวิตกกังวล, ความสัมพันธ์, สุขภาพจิต, ผู้ดูแล, บุคลากรทางการแพทย์, ครอบครัว

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: รพ.มหาราช จ.นครราชสีมา

Code: 20040000247

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 12 .

Download: -