ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: บุษกร หาญวงศ์

ชื่อเรื่อง/Title: การประเมินคุณภาพชีวิตผู้ป่วยเบาหวานโดยเภสัชกร ที่โรงพยาบาลวารินชำราบ

แหล่งที่มา/Source: บทคัดย่อผลงานวิชาการสาธารณสุข ประจำปี 2547, ในการประชุมวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 12, เมืองไทยสุขภาพดี วิถีพัฒนาที่มั่นยืน, ณ โรงแรมรอยัลภูเก็ต ซิตี้ จังหวัดภูเก็ต 24-27 สิงหาคม 2547, หน้า 188.

รายละเอียด / Details:

บทนำและวัตถุประสงค์ โรคเบาหวานเป็นปัญหาทางสุขภาพที่มีผลกระทบต่อประชากรทั่วโลกเป็นโรคเรื้อรังที่ส่งผลให้เกิดอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา มีผลทำให้เกิดภาวะทุพพลภาพมากขึ้น ลดการมีชีวิตยืนยาว ส่งผลทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย หากผู้ป่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี มีความรู้เกี่ยวกับภาวะโรคและอาการแทรกซ้อนก็จะเพิ่มความสามารถในการดูแลตนเองของผู้ป่วยและเพิ่มคุณภาพชีวิตได้ในที่สุด การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินคุณภาพชีวิตผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่คลินิกเบาหวานของโรงพยาบาลวารินชำราบ เป็นการศึกษาแบบ cross-sectional study ประชากรกลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วยเบาหวานที่เข้ารับการรักษาที่คลินิกเบาหวานของโรงพยาบาลวารินชำราบ ระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2547 สุ่มตัวอย่างผู้ป่วยโดยวิธี Convenient sumple random sampling สัมภาษณ์ผู้ป่วยโดยใช้แบบคำถามประเมินคุณภาพชีวิตผู้ป่วยเบาหวานฉบับแปล (DQOL) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติร้อยละและค่าเฉลี่ย ผลการศึกษา สัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 104 ราย เพศชายร้อยละ 34.62 เพศหญิงร้อยละ 65.38 อายุเฉลี่ย 55.73+-10.11 ปี การศึกษาระดับประถมศึกษา ร้อยละ 54.81 ระยะเวลาเป็นโรคเบาหวานเฉลี่ย 4.96+-3.82 ปี ระดับน้ำตาลในเลือดเฉลี่ย 169.5+-55.35mg% มีโรคแทรกซ้อนเป็นความดันโลหิตสูงร้อยละ 69.23, โรคหัวใจ ร้อยละ 15.38 และโรคอื่นๆ ร้อยละ 15.39 มีภาวะไขมันในเลือดสูงร่วมด้วยร้อยละ 26.92 ของผู้ป่วยทั้งหมด จากการสัมภาษณ์พบว่า เมื่อเปรียบเทียบสุขภาพโดยทั่วไปกับผู้อื่นในวัยเดียวกันผู้ป่วยรู้สึกว่าสุขภาพตนเองอยู่ในระดับดีร้อยละ 38.40, ระดับพอใช้ร้อยละ 57.70 และอยู่ในระดับแย่ร้อยละ 3.90 ผลการประเมินคุณภาพชีวิตในด้านความพึงพอใจในการรับบริการ ผลการรักษาเบาหวานและเรื่องทั่วไปในชีวิต ผู้ป่วยรู้สึกพึงพอใจกับชีวิตในระดับปานกลางถึงมากเฉลี่ยเท่ากับ 4.51 คะแนน (5 คะแนนเท่ากับพึงพอใจมาก) โดยพึงพอใจกับการมาตรวจรักษาโรคเบาหวาน, การรับประทานอาหาร, ความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน, การนอนหลับ, การพบปะเพื่อนฝูง, การทำงาน, การออกกำลังกายและการพักผ่อนหย่อนใจ ผู้ป่วยประเมินคุณภาพชีวิตจากการเป็นเบาหวานมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของตนเองในระดับน้อยมากเฉลี่ยเท่ากับ 4.19 คะแนน ( 5 คะแนน เท่ากับไม่มีผลกระทบ) โดยไม่มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการขาดงาน, การเดินทาง, การเกิดภาวะแทรกซ้อนและการยอมรับว่าเป็นโรคเบาหวาน สรุปผลการศึกษา ผลการประเมินคุณภาพชีวิตผู้ป่วยเบาหวานในครั้งนี้พบว่า ผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตในระดับพอใช้และมีความพึงพอใจกับชีวิตในระดับปานกลางถึงมากผลลัพธ์ที่ดีด้านคุณภาพชีวิตของการดูแลรักษาผู้ป่วยในคลินิกเบาหวาน โรงพยาบาลวารินชำราบเป็นผลลัพธ์ร่วมกันของทีมสุขภาพสหสาขาวิชาชีพ ดังนั้นบุคลากรทางการแพทย์จึงควรร่วมกันดูแลผู้ป่วย เพราะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่เพิ่มขึ้น

Keywords: ความวิตกกังวล , ภาวะแทรกซ้อน, คุณภาพชีวิต, เบาหวาน, สุขภาพ, สุขภาพจิต

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: รพ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี

Code: 20040000249

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 12 .

Download: -