ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อรวรรณ ดวงมังกร

ชื่อเรื่อง/Title: ทรรศนะด้านจิตวิญญาณในสังคมอีสาน

แหล่งที่มา/Source: บทคัดย่อผลงานวิชาการสาธารณสุข ประจำปี 2547, นำเสนอในการประชุมวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 12, ณ โรงแรมรอยัลภูเก็ต ซิตี้ จังหวัดภูเก็ต, 24-27 สิงหาคม 2547, หน้า 68.

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา เพื่อวิเคราะห์คุณลักษณะจิตวิญญาณ (spirituality) จากการทบทวนวรรณกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเพื่อศึกษาคุณลักษณะของจิตวิญญาณ การวิจัยครั้งนี้แบ่งออกเป็น 2 ระยะคือ ระยะที่ 1 เป็นการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ โดยคัดสรรเฉพาะคำ หรือกลุ่มคำที่อธิบายถึงความหมาย คำนิยามและคุณลักษณะของจิตวิญญาณ จากตำรา รายงานการวิจัย ปริญญานิพนธ์ เอกสารบทความวิชาการ และจากคอมพิวเตอร์โดยใช้ฐานข้อมูล Medline และ CINAHL ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1989-2002 (พ.ศ. 2533-2545) จำนวน 51 เรื่อง วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา (content analysis) และจัดหมวดหมู่จำแนกตามชนิดของข้อมูล ผลการศึกษาพบว่า"จิตวิญญาณ" ประกอบด้วย 2 มิติ ได้แก่ พลังชีวิต และภาวะเหนือตนเอง กล่าวคือ พลังชีวิตจะได้จากการที่บุคคลได้รับกำลังใจ มีความหวัง มีความเชื่อ มีความศรัทธา มีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ และความรู้สึกมีคุณค่า ทำให้บุคคลมีความมุ่งมั่นที่จะหาคำตอบให้กับชีวิต โดยการหาความหมายและเป้าหมายของชีวิต เห็นความสัมพันธ์ในการดำรงชีวิตกับธรรมชาติ นำไปสู่การพัฒนาจิตวิญญาณในระดับสูงสุดคือ ภาวะเหนือตนเอง เพื่อให้เกิดความผาสุก ความสมบูรณ์ในชีวิต และมีความกลมกลืนในการดำรงชีวิตกับธรรมชาติ ระยะที่ 2 เป็นการสัมภาษณ์ ผู้ให้ข้อมูลหลัก ซึ่งคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ ผู้ให้บริการช่วยเหลือด้านจิตวิญญาณที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดขอนแก่น ได้แก่ พระนักวัฒนธรรม แพทย์และพยาบาล จำนวน 7 ราย กลุ่มที่สองคือ กลุ่มผู้ป่วยในที่มาใช้บริการในโรงพยาบาลขอนแก่น จำนวน 6 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก ตามแนวคำถามที่สร้างขึ้นจากการสังเคราะห์ความรู้ในระยะที่ 1 ผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า คุณลักษณะของจิตวิญญาณ ประกอบด้วย 2 มิติ ได้แก่ ความหวังการมีเกียรติ มีฐานะ ได้รับการยอมรับ มีความอบอุ่น ทำให้มีกำลังใจ เป็นการได้สัมผัสจิตวิญญาณในระดับของคนทั่วๆ ไป ส่วนจิตวิญญาณในลักษณะที่เป็นสิ่งเหนือธรรมชาตินั้น ผู้ที่จะเข้าถึงได้ต้องมีความเพียรในการปฏิบัติ โดยใช้ศาสนาเป็นสิ่งที่เชื่อมโยง และต้องมีพละ 5 คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา สำหรับการใช้คำเรียกที่บ่งบอกถึงคุณลักษณะของจิตวิญญาณในสังคมอีสาน ได้แก่ คำว่า "จิต" และคำว่า "ขวัญ" ผู้วิจัยได้เสนอแนวทางการนำไปประยุกต์ใช้ในคลินิกคือ พยาบาลจำเป็นต้องตระหนักในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ป่วยเพื่อตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานปฏิบัติงานด้วยความรักความเมตตาแก่ผู้ป่วย เพื่อจะนำไปสู่การฟื้นหายจากการเจ็บป่วยและสามารถขยายขอบเขตของความสัมพันธ์กับธรรมชาติในที่สุด

Keywords: จิตวิญญาณ, ความสัมพันธ์, พลังชีวิต, สังคมอิสาน, ทรรศนะ, จิตวิทยา, ผาสุก, ความเชื่อ, สุขภาพจิต, ศาสนา, จิต, ขวัญ

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: รพ.ขอนแก่น

Code: 20040000252

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 12 .

Download: -