ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: องุ่น พยุงธรรม

ชื่อเรื่อง/Title: ประสิทธิผลของการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเภทด้วยการใช้โปรแกรมฝึกทักษะงานบ้าน

แหล่งที่มา/Source: บทคัดย่อผลงานวิชาการสาธารณสุข ประจำปี 2547, ในการประชุมวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 12, เมืองไทยสุขภาพดี วิถีพัฒนาที่มั่นยืน, ณ โรงแรมรอยัลภูเก็ต ซิตี้ จังหวัดภูเก็ต 24-27 สิงหาคม 2547, หน้า 69

รายละเอียด / Details:

บทนำและวัตถุประสงค์ กิจกรรมฝึกทักษะงานบ้านเป็นอีกกิจกรรมการฝึกทักษะพื้นฐานในชีวิตประจำวัน ที่อยู่ใกล้ตัวผู้ป่วย และมีความจำเป็นซึ่งผู้ป่วยสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้กิจกรรมดังกล่าวจะช่วยฟื้นฟูให้ผู้ป่วยได้รู้จักการทำกิจกรรมร่วมกัน ช่วยให้ผู้ป่วยเกิดการเรียนรู้พฤติกรรมทางสังคม รู้จักรับผิดชอบในการทำงาน สร้างความภาคภูมิใจ เกิดความเชื่อมั่นในตนเอง เกิดการเสริมแรงซึ่งกันและกันในกลุ่มผู้ป่วยจะรู้สึกว่าตนเองยังมีคุณค่าและมีความสามารถที่จะทำประโยชน์ให้แก่ครอบครัวและสังคมได้เมื่อกลับไปอยู่บ้าน ดังนั้น การจัดกิจกรรมการฝึกทักษะงานบ้าน จึงถือได้ว่าเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเภทให้มีทักษะความสามารถที่เหมาะสม ซึ่งหากผู้ป่วยจิตเภทเหล่านี้ไม่ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพดังกล่าวแล้ว จะทำให้ผู้ป่วยขาดความสามารถในการทำงานส่งผลกระทบต่อญาติและครอบครัว ซึ่งต้องรับภาระในการดูแลผู้ป่วยต่อไป วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมฝึกทักษะงานบ้านต่อความสามารถในการทำงานบ้านของผู้ป่วยจิตเภท วิธีการศึกษา การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบกึ่งทดลอง กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยจิตเภททั้งเพศชายและเพศหญิง อายุระหว่าง 21-45 ปี ที่เข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในหน่วยคุณภาพเร่งรัด โรงพยาบาลศรีธัญญา ผู้วิจัยคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้จำนวน 40 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง และกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 20 คน กลุ่มทดลองได้รับการเข้าร่วมโปรแกรมฝึกทักษะงานบ้านเป็นจำนวน 20 ครั้งๆ ละ 2 ชั่วโมง ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติในหอผู้ป่วย ภายหลังการทดลองเหลือผู้ป่วยกลุ่มทดลอง และกลุ่มควบคุม 32 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อทดสอบค่าทีและการวิเคราะห์ความแปรปรวนร่วม ผลการศึกษา พบว่า ผู้ป่วยจิตเภทกลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยคะแนนความสามารถในการทำงานบ้านสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ ทางสถิติที่ระดับ .01 แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยจิตเภทสามารถฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานบ้านผ่านโปรแกรมฝึกทักษะงานบ้าน โดยใช้หลักการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมและแรงเสริมทางบวกเป็นตัวเพิ่มความถี่ของความสามารถในการทำงานบ้าน วิจารณ์และสรุป 1) จากการวิจัยครั้งนี้ ปรากฎชัดว่าโปรแกรมฝึกทักษะงานบ้านสามารถพัฒนาฟื้นฟูสมรรถภาพ ความสามารถในการทำงานบ้านของผู้ป่วยจิตเภทให้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ดังนั้น จึงควรมีการจัดโปรแกรมฝึกทักษะงานบ้าน เข้าเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง สำหรับผู้ป่วยจิตเภทรายอื่นในหอผู้ป่วยจิตเวชต่อไป 2) ควรมีการฝึกอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรในทีมจิตเวชเกี่ยวกับโปรแกรมฝึกทักษะงานบ้าน เพื่อให้บุคลากรดังกล่าว มีทักษะในการนำไปใช้ในการฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเภทรายอื่นอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป 2) ควรมีการฝึกอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรในทีมจิตเวชเกี่ยวกับโปรแกรมฝึกทักษะงานบ้าน เพื่อให้บุคลากรดังกล่าว มีทักษะในการนำไปใช้ในการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเภทรายอื่นอย่างมีประสิทธิภาพ 3) ควรมีการติดตามผลของโปรแกรมฝึกทักษะงานบ้านภายหลังการสิ้นสุดโปรแกรมไปแล้ว 1, 2 สัปดาห์ เพื่อศึกษาความเปลี่ยนแปลงหรือความคงทนของความสามารถในการทำงานบ้านของผู้ป่วยจิตเภท

Keywords: การฟื้นฟูสมรรถภาพ, ผู้ป่วยจิตเภท, โปรแกรมฝึกทักษะ, พฤติกรรม, ครอบครัว, จิตเภท, โรคจิต, จิตเวช,จิตเวชศาสร์, ทักษะชีวิต, ผู้ป่วยจิตเภท, โปรแกรมฝึกทักษะงานบ้าน, โรงพยาบาลศรีธัญญา

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: โรงพยาบาลศรีธัญญา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 20040000253

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 12 .

Download: -