ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: พัชนี ทองประเสริฐ

ชื่อเรื่อง/Title: วัยรุ่นกับการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ และกลไกในการเผชิญปัญหาการวิจัยเชิงคุณภาพ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี

แหล่งที่มา/Source: บทคัดย่อผลงานวิชาการสาธารณสุข ประจำปี 2547, นำเสนอในการประชุมวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 12, ณ โรงแรมรอยัลภูเก็ต ซิตี้ จังหวัดภูเก็ต, 24-27 สิงหาคม 2547, หน้า 72.

รายละเอียด / Details:

การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึง รูปแบบของพฤติกรรมที่นำไปสู่การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ และเพื่ออธิบายถึงกลไกในการเผชิญปัญหา เมื่อเกิดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ในระดับลึก ระหว่าง เดือน มกราคม – พฤษภาคม 2547 กลุ่มตัวอย่าง คือ วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ อายุ 15-19 ปี จำนวน 15 คน วิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้วิธีการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการศึกษา : รูปแบบของพฤติกรรม เริ่มต้นด้วยกลุ่มตัวอย่าง เดินทางมาศึกษาในเมือง โดยพักอาศัยในหอพัก หรือเช่าบ้านอยู่รวมกันกับเพื่อน มีการรวมกลุ่ม และนัดเที่ยวกลางคืน เมื่อคุ้นเคยจะไปด้วยกันเพียงลำพัง ระยะแรกไม่มีสิ่งมึนเมาเข้ามาเกี่ยวข้อง ต่อมามีการทดลองดื่มเบียร์ เหล้า การชักชวนไปที่พักของเพื่อนชาย หรือพาไปที่รโหฐาน และมีเพศสัมพันธ์ โดยมีทั้งการใช้กำลังบังคับในขณะที่กลุ่มตัวอย่างกำลังมึนเมา การยินยอมพร้อมใจ และความอยากลองของกลุ่มตัวอย่างเอง จากนั้นจะมีสัมพันธ์ต่อเนื่อง และบางรายย้ายไปพักกับเพื่อนชาย ทั้งหมดมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกัน รูปแบบการเผชิญปัญหา : พบว่า เมื่อสงสัยว่าตนเองจะตั้งครรภ์ ส่วนหนึ่งจะตรวจปัสสาวะเอง ไปคลินิก โรงพยาบาล อ่านตำรา และทราบโดยประสบการณ์ บุคคลที่บอกการตั้งครรภ์ให้รับรู้ คือ เพื่อนชาย และเพื่อนสนิท ที่อยู่เป็นคู่จะมีพ่อแม่ของเพื่อนชายร่วมรับรู้ แต่การตัดสินใจทำแท้งขึ้นอยู่กับกลุ่มตัวอย่างเอง ปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจ คือ ยังเรียนไม่จบ ไม่พร้อมที่จะรับภาระ ไม่มีรายได้ กลัวพ่อแม่รู้ กลัวชาวบ้านนินทา การหาสถานที่ทำแท้ง จะสอบถามจากเพื่อน รุ่นพี่ หรือเพื่อนบ้านที่เคยทำแท้ง บางรายจะไปสำรวจสถานที่ทำแท้ง และราคาก่อนจึงตัดสินใจว่าจะทำที่ใด ค่าใช้จ่ายในการทำแท้งใช้เงินของกลุ่มตัวอย่างเอง ที่เป็นคู่จะมีพ่อแม่ของเพื่อนชายร่วมรับผิดชอบ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จะไปทำแท้งเองเพียงลำพัง หรือมีเพื่อนสนิทเป็นผู้พาไป หลังทำแท้งแล้วส่วนใหญ่จะไปเรียนหนังสือตามปกติในวันรุ่งขึ้น เมื่อเกิดอาการแทรกซ้อนหลังทำแท้ง จะซื้อยากินเอง บางรายจะอดทน เมื่ออาการแย่ลง จึงขอความช่วยเหลือจากผู้ที่พบเห็น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพื่อน เจ้าของหอพัก หรือเพื่อนบ้านให้ช่วยนำส่งโรงพยาบาล ส่วนที่อยู่เป็นคู่จะเป็นคนในครอบครัว หรือเพื่อนชายเป็นผู้นำส่ง จากการสอบถามเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน กลุ่มตัวอย่างให้ความคิดเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพื่อนที่เรียนด้วยกันต่างก็มีคู่ เมื่อถามถึงการคุมกำเนิด พบว่า บางรายมีความรู้ บางรายไม่มีความรู้ บางรายเคยกินยา แต่ต้องเลิกเนื่องจากกินแล้ววิงเวียน น้ำหนักขึ้น จึงเลิกกิน และไม่ได้ใช้การป้องกันวิธีอื่นอีก

Keywords: พฤติกรรม, การตั้งครรภ์, เพศสัมพันธ์, ครอบครัว, วัยรุ่น, เพศสัมพันธ์, กลไกการเผชิญปัญหา, เพศ, จิตวิทยา, สุขภาพจิต

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี

Code: 20040000256

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 12 .

Download: -