ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สดใส คุ้มทรัพย์อนันต์, สุรีย์ บุญเฉย

ชื่อเรื่อง/Title: ปัจจัยทางสังคมกับการกลับรักษาซ้ำของผู้ป่วยจิตเภท โรงพยาบาลศรีธัญญา

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการ ครั้งที่1, มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ 23 ตุลาคม 2547, หน้า 20-21.

รายละเอียด / Details:

การวิจัยเรื่องปัจจัยทางสังคมกับการกลับรักษาซ้ำของผู้ป่วยจิตเภท โรงพยาบาลศรีธัญญา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยทางสังคมที่มีผลต่อการกลับมารักษาซ้ำของผู้ป่วยจิตเภท โรงพยาบาลศรีธัญญาจากญาติผู้ป่วยจิตเภทในเขตปริมณฑล และศึกษาความสัมพันธ์ของปัจจัยทางสังคมกับการกลับรักษาซ้ำของผู้ป่วยจิตเภท ประชากรกลุ่มตัวอย่างคือญาติผู้ป่วยจิตเภทที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลศรีธัญญา ปี 2544 และเข้ารับการรักษาซ้ำภายใน 3 เดือน ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตปริมณฑล ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และนครปฐม จำนวน 200 ราย โดยการสัมภาษณ์จากนักสังคมสงเคราะห์ทางโทรศัพท์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน คำนวนค่าสัมประสิทธิ์สัมพันธ์แบบเพียร์สัน หาค่าความแปรปรวนทางเดียว (one way anova) โดยทดสอบหาค่าเอฟ(F-test) และใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสังคมศาสตร์ SPSS(Statistical Package for the Social Science) ผลการศึกษาพบว่าประชากรส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง มีอายุระหว่าง 41-50 ปี มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษามากที่สุด สถานภาพสมรสคู่ ไม่ได้ประกอบอาชีพ มีรายได้ระหว่าง 5,001-10,000 บาท/เดือน ความสัมพันธ์กับผู้ป่วยเป็นบิดา-มารดา และเป็นผู้ดูแลผู้ป่วย ผลการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการกลับรักษาซ้ำของผู้ป่วยจิตเภทพบว่า ญาติมีความรู้ในการดูแลผู้ป่วยจิตเภทในระดับดีในด้านโรคจิตเภทเป็นโรคเรื้อรัง การรักษาทางจิตสังคมจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับสู่สังคมได้ตามปกติ และการได้รับยาอย่างสม่ำเสมอไม่หยุดยาเอง มาพบแพทย์ตามนัด จะช่วยป้องกันการกำเริบซ้ำได้ สำหรับทัศนคติของญาติพบว่า ญาติมีทัศนคติโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง ด้านการรักษาให้ได้ผลดี ควรรักษาทางยาควบคู่กับการรักษาด้านจิตใจและสังคม ส่วนพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของผู้ป่วย ส่วนใหญ่รวมอยู่ในระดับต่ำ และพฤติกรรมที่เป็นปัญหามากได้แก่ ผู้ป่วยเสพสิ่งเสพติด และรับประทานยาไม่สม่ำเสมอ สำหรับพฤติกรรมของญาติในการดูแลผู้ป่วยจิตเภทโดยรวมอยู่ในระดับดี คือให้ความรัก ความอบอุ่น ความเข้าใจและสังเกตอาการเตือนของโรคได้ ถ้ารุนแรงจะใช้วิธีส่งต่อแพทย์ ปัจจัยด้านสัมพันธภาพในครอบครัว พบว่าญาติผู้ป่วยจิตเภทมีสัมพันธภาพในครอบครัวโดยรวมอยู่ในระดับดี ในด้านญาติห่วงใยในความเป็นอยู่ของผู้ป่วยและให้อภัยซึ่งกันและกัน ส่วนปัจจัยด้านการสนับสนุนทางสังคม โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง และการสนับสนุนด้านข้อมูล ข่าวสารมีมากที่สุด รองลงมาด้านอารมณ์ ผลการทดสอบความสัมพันธ์ของตัวแปรพบว่าการรักษาซ้ำของผู้ป่วยจิตเภทมีความสัมพันธ์ทางบวกกับทัศนคติของญาติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 และการรักษาซ้ำของผู้ป่วยจิตเภทมีความสัมพันธ์ทางลบกับพฤติกรรมของผู้ป่วย พฤติกรรมการดูแลผู้ป่วย สัมพันธภาพในครอบครัว และการสนับสนุนทางสังคมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01, 0.01, 0.01 และ 0.05 ตามลำดับ ส่วนความสัมพันธ์ของญาติกับผู้ป่วยที่แตกต่างกันจะมีผลต่อการรักษาซ้ำของผู้ป่วยจิตเภทที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 สรุปผลการวิจัยพบว่า ญาติผู้ป่วยจิตเภทส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงมีการศึกษาระดับมัธยมศึกษา สถานภาพสมรสคู่ ไม่ได้ประกอบอาชีพ มีรายได้ระหว่าง 5,000-10,000 บาท มีความรู้เรื่องโรคจิตเภทอยู่ในระดับปานกลาง ระดับพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของผู้ป่วยโดยรวมอยู่ในระดับต่ำระดับพฤติกรรมของญาติในการดูแลผู้ป่วยจิตเภทในการดูแลผู้ป่วยโดยรวมอยู่ในระดับดี สัมพันธภาพในครอบครัวผู้ป่วยจิตเภทโดยรวมอยู่ในระดับดี การได้รับการสนับสนุนทางสังคมของผู้ป่วยจิตเภทโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง และพบว่าปัจจัยทางสังคมด้านความรู้ ทัศนคติ พฤติกรรมผู้ป่วย พฤติกรรมการดูแลผู้ป่วย สัมพันธภาพในครอบครัว และการสนับสนุนทางสังคมมีความสัมพันธ์กับการรักษาซ้ำของผู้ป่วยจิตเภทโรงพยาบาลศรีธัญญา นอกจากนี้ยังพบว่า ความสัมพันธ์กับผู้ป่วยของญาติที่แตกต่างกันจะมีผลต่อการรักษาซ้ำของผู้ป่วยจิตเภทที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 ข้อเสนอแนะจากการวิจัย นักสังคมสงเคราะห์ควรจัดอบรมหรือให้ความรู้แก่ญาติผู้ป่วยจิตเภทเกี่ยวกับโรคจิตเภท การดูแลผู้ป่วยจิตเภทด้านจิตสังคม วิธีการจัดการกับผู้ป่วยจิตเภทและปรับเปลี่ยนทัศนคติ ความคาดหวัง ความรู้สึกอายแก่ญาติผู้ป่วยจิตเภทและชุมชนเพื่อให้เกิดความเข้าใจและยอมรับผู้ป่วย ส่งเสริมให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัวและส่งเสริมให้มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในครอบครัวทั้งด้านข้อมูลข่าวสาร สิ่งของและอารมณ์ และควรสร้างเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยจิตเภท โดยจัดตั้งองค์กร กลุ่มพบปะ ปรึกษาปัญหาและสนับสนุนการทำงานเชิงรุกลงสู่ชุมชนต่อไป

Keywords: โรคจิตเภท, สังคม, ความสัมพันธ์, ญาติ, การดูแล, ทัศนคติ, พฤติกรรม, ครอบครัว, การกลับมารักษาซ้ำ, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, โรงพยาบาลศรีธัญญา, ผู้ป่วยจิตเภท, ปัจจัยทางสังคม, พฤติกรรม,

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: โรงพยาบาลศรีธัญญา

Code: 20040000280

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: -