ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: หทัยชนก บัวเจริญ, ขนิษฐา นันทบุตร

ชื่อเรื่อง/Title: การพัฒนารูปแบบการป้องกันการใช้สารเสพติดของเด็กวัยรุ่นในชุมชนแออัด กรณีศึกษาชุมชนแออัดแห่งหนึ่ง เขตเทศบาลนครขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการ ครั้งที่1, มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ 23 ตุลาคม 2547, หน้า 22.

รายละเอียด / Details:

งานวิจัยนี้มีปรัชญาความเชื่อบนฐานคิดของการแก้ไขปัญหา การค้นหาศักยภาพ และการนำศักยภาพของตนเองมาใช้ในการจัดการแก้ไขปัญหานั้น โดยกระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วมเป็นวิธีการที่ศึกษาปัญหา และเข้าถึงศักยภาพเพื่อวิเคราะห์ 1. สถานการณ์การใช้สารเสพติดของเด็กวัยรุ่น ครอบครัว องค์กรชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2. สงเคราะห์ปัจจัยเงื่อนไขที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการใช้สารเสพติดและไม่ใช้สารเสพติดของเด็กวัยรุ่นในชุมชนแออัดเพื่อเป็นฐานคิดในการพัฒนาศักยภาพของเด็กและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3. สังเคราะห์แนวทางในการป้องกันการใช้สารเสพติดในกลุ่มเด็กวัยรุ่นในชุมชนแออัดโดยเน้นการพัฒนาศักยภาพของเด็กวัยรุ่นและการมีส่วนร่วมของชุมชนและ 4. สังเคราะห์การให้บริการสุขภาพด้านการป้องกันการใช้สารเสพติดในกลุ่มเด็กวัยรุ่นในชุมชนแออัด โดยอาศัยการดำเนินการของเด็กวัยรุ่น ครอบครัว องค์กรในชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สถานที่เก็บข้อมูลคือ ชุมชนแออัดแห่งหนึ่งในเขตเทศบาลนครขอนแก่นในระหว่างเดือนตุลาคม 2543 ถึงเดือนมิถุนายน 2545 เข้าถึงข้อมูลด้วยวิธีการสังเกตแบบมีส่วนร่วมซึ่งทำให้เกิดกิจกรรมการสนทนากลุ่ม การสัมภาษณ์เจาะลึกเพื่อหาข้อสะท้อนคิดแง่มุมจากสถานการณ์การใช้สารเสพติดของเด็กวัยรุ่นในชุมชนแออัดและการเข้าถึงศักยภาพของเด็กวัยรุ่นที่มีอยู่ และเกิดกิจกรรมการสำรวจเพื่อชี้ประเด็นปัญหา พฤติกรรมการใช้และไม่ใช้สารเสพติด และการประเมินศักยภาพของเด็กวัยรุ่น เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เชื่อถือได้ ทั้งนี้การวิเคราะห์ข้อมูลจึงเป็นการเปรียบเทียบข้อมูลในมุมมองของผู้ให้ข้อมูลวิเคราะห์เรื่องราวประวัติศาสตร์ของชุมชนและพัฒนาการของวิถีชีวิตคนในชุมชน วิเคราะห์หแบบเมทริคซ์เพื่อหาแนวทางและการให้บริการด้านสุขภาพในการป้องกันการใช้สารเสพติดในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นตลอดจนใช้การตรวจสอบข้อมูลเชิงคุณภาพจากผู้ให้ข้อมูลที่แตกต่างกัน เวลาที่แตกต่างกัน และตรวจสอบข้อมูลเชิงปริมาณจากผู้เชี่ยวชาญและการทดสอบค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่าครอนบาคของแบบสอบถามการประเมินภาวะสุขภาพได้ 0.82 และค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่าครอนบาคของแบบสอบถามความเชื่ออำนาจภายในภายนอกด้านสุขภาพของเด็กวัยรุ่นได้ 0.72 รูปแบบการป้องกันการใช้สารเสพติดของเด็กวัยรุ่นในชุมชนแออัดในงานวิจัยนี้เป็นการวิเคราะห์บนฐานการศึกษาสถานการณ์การใช้สารเสพติดที่นำ "ปัญหา" ที่เกิดจากวิถีชีวิต วิถีชุมชน ภาวะสุขภาพ พฤติกรรมการใช้และไม่ใช้สารเสพติดและการร่วมค้นหา "ศักยภาพ" ของเด็กวัยรุ่น ครอบครัว ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน โดยผู้วิจัยนำข้อความรู้ที่วิเคราะห์ได้เสนอให้ผู้ร่วมคิดร่วมวิเคราะห์ สังคราะห์สถานการณ์ปัจจัย เงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการใช้และไม่ใช้สารเสพติดในชุมชนแออัดจนสรุปเป็นข้อความรู้ว่า เด็กวัยรุ่นต้องมีอาชีพจากการได้รับโอกาสในการพัฒนาศักยภาพทำให้ไม่ใช้สารเสพติด สัมพันธภาพในครอบครัวและเพื่อนบ้านที่มีอยู่สามารถนำมาใช้ในการป้องกันการใช้ สารเสพติดได้โดยการพัฒนาความเข้มแข็งให้ผู้หญิงเป็นแกนนำในการจัดการในครอบครัว และที่สำคัญคือการเสริมพลังให้เครือข่ายช่วยเหลือดูแลเมื่อเจ็บป่วย โดยเฉพาะระหว่างเพื่อนบ้านถือเป็นปัจจัยสำคัญในการป้องกันการใช้สารเสพติดในเด็กวัยรุ่นของชุมชนแออัดได้ ดังนั้นแนวทางการป้องกันการใช้สารเสพติดที่พึงประสงค์ในรูปแบบนี้จึงเป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้คนที่เกี่ยวข้องเห็นปัญหา จัดการปัญหาโดยการพัฒนาศักยภาพ และสร้างการมีส่วนร่วมให้ตระหนักในปัญหาและคิดวิเคราะห์หากลยุทธ์ในการป้องกันการใช้สารเสพติดของเด็กวัยรุ่น ในชุมชนแออัดได้อย่างเป็นรูปธรรม

Keywords: สารเสพติด, ความเชื่อ, เด็กวัยรุ่น, ครอบครัว, พฤติกรรม, ยาเสพติด, ชุมชนแออัด, กรณีศึกษา, เทศบาลนครขอนแก่น, กิจกรรมกลุ่ม, กลุ่มบำบัด,

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

Code: 20040000281

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: -