ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อัจฉรา จรัสสิงห์

ชื่อเรื่อง/Title: การประเมินผลสื่อเพื่อการเรียนรู้ในการเจรจาต่อรองเพื่อช่วยเหลือผู้อยู่ในภาวะวิกฤต ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติงานในเขตกรุงเทพมหานคร

แหล่งที่มา/Source: วารสารสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย, ปีที่ 11, ฉบับที่ 3, กันยายน 2546, หน้า 145.

รายละเอียด / Details:

สื่อวิดิทัศน์และเทปบันทึกเสียงการเจรจาต่อรองเพื่อช่วยเหลือผู้อยู่ในภาวะวิกฤต เป็นเทคโนโลยีที่ผลิตขึ้นเพื่อช่วยในการเรียนรู้ด้วยตนเองสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการประเมินผลสื่อเพื่อการเรียนรู้ในการเจรจาต่อรองเพื่อช่วยเหลือผู้อยู่ในภาวะวิกฤตของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติงานในเขตกรุงเทพมหานคร เป็นการวิจัยประเมินผล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความครอบคลุมและการเข้าถึงสื่อของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ความเหมาะสมของสื่อ และประสิทธิภาพของสื่อ กลุ่มเป้าหมายเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 133 นาย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแนวคำถามในการสนทนากลุ่มประกอบด้วย 3 ส่วน ส่วนที่ 1 เป็นข้อคำถามเกี่ยวกับการเข้าถึงสื่อ จำนวน 4 ข้อ ส่วนที่ 2 เป็นข้อคำถามเกี่ยวกับความเหมาะสมของสื่อ จำนวน 4 ข้อ ส่วนที่ 3 เป็นข้อคำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพของสื่อ จำนวน 4 ข้อ รวบรวมข้อมูลด้วยการสนทนากลุ่ม จำนวน 10 กลุ่ม ๆ ละ 12-18 คน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการศึกษาพบว่าการเข้าถึงสื่อของเจ้าหน้าที่ตำรวจส่วนใหญ่ ยังไม่ครอบคลุมเจ้าหน้าที่ตำรวจในสถานี และมีการเข้าถึงสื่อวิดิทัศน์มากกว่าเทปบันทึกเสียง ความเหมาะสมของสื่อต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ พบว่าสื่อทั้งสองชนิดมีความเหมาะสม ด้านประสิทธิภาพของสื่อ พบว่าสื่อทั้งสองชนิดมีประสิทธิภาพดี ช่วยให้มีความรู้ความเข้าใจในการใช้คำพูดในการสื่อสารและการเจรจากับผู้ก่อเหตุได้ดีขึ้น สามารถนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในการทำงานบริการด้านอื่น ๆ สรุปสื่อวิดิทัศน์และเทปบันทึกเสียงการเจรจาต่อรองเพื่อช่วยเหลือผู้อยู่ในภาวะวิกฤตมีความเหมาะสมช่วยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับความรู้ ความเข้าใจ สามารถเลือกใช้วิธีการในการแก้ปัญหาและการจัดการกับเหตุการณ์ในภาวะวิกฤตได้ ช่วยให้มีความพร้อมก่อนมีการปฏิบัติจริงเพื่อลดความรุนแรงและความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น แต่ต้องปรับการบริหารจัดการเพื่อให้สื่อไปถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจได้อย่างกว้างขวางและครอบคลุม ข้อเสนอแนะควรจัดทำสื่อการเจรจาต่อรองอย่างต่อเนื่องและเพิ่มเนื้อหากรณีศึกษาที่หลากหลายหรือเจาะลึกในกรณีที่มักพบบ่อยหรือมีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อนในการแก้ไขสถานการณ์ ควรจัดทำคู่มือความรู้เกี่ยวกับการเจรจาต่อรองเพื่อใช้ประกอบการศึกษาทบทวนความรู้และเพื่อให้เกิดความเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น และควรมีการติดตามประเมินผลสื่ออย่างต่อเนื่องเพื่อนำจุดดีจุดด้อยของสื่อมาพัฒนาปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นต่อไป

Keywords: สื่อการเรียนรู้, การเจรจาต่อรอง, การช่วยเหลือผู้อยู่ในภาวะวิกฤต, เจราจาต่อรอง, วิกฤตสุขภาพจิต, ตำรวจ, สื่อ, จิตเวช, สุขภาพจิต

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: ศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 กรมสุขภาพจิต

Code: 20040000292

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ วารสารวิชาการ

Download: Download รายงานวิจัย คลิกได้ที่นี่ค่ะ PDF Format