ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ดารา การะเกษร

ชื่อเรื่อง/Title: ความรู้ การปฏิบัติและความต้องการการสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่บ้านของผู้ดูแลในครอบครัวไทยมุสลิม

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 2 สุขภาพจิตกับยาเสพติด ปี 2546. หน้า 206-207. (วันที่ 19-21 สิงหาคม 2546 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพมหานคร)

รายละเอียด / Details:

การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา วัตถุประสงค์ เพื่อ ศึกษาความรู้ การปฏิบัติ และความต้องการการสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่บ้านของผู้ดูแลในครอบครัวไทยมุสลิม กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเภทซึ่งดูแลผู้ป่วยโดยตรง และนำผู้ป่วยมารับบริการที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ จำนวน 150 คน เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง เก็บข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ข้อมูลเชิงปริมาณใช้แบบสัมภาษณ์ ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้แบบสัมภาษณ์เจาะลึก ตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือโดยหาค่าความตรงจากผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 7 ท่าน และหาค่าความเที่ยงของแบบสัมภาษณ์โดยวิธีของคูเดอร์ริชาร์ดสัน และวิธีของครอนบาคแอลฟา ได้ค่าสัมประสิทธิ์ ส่วนของความรู้ การปฏิบัติและความต้องการการสนับสนุนเท่ากับ .85 .84 และ .93 ตามลำดับ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ วิเคราะห์ด้วยสถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นบิดา มารดาของผู้ป่วย (ร้อยละ 47.4) ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย (ร้อยละ 50.7) ช่วงอายุ 41-60 ปี (ร้อยละ 44.7) มีสถานภาพสมรสคู่ (ร้อยละ 78.7) การศึกษาระดับประถม (ร้อยละ 63.3) ประกอบอาชีพทำสวนทำไร่ (ร้อยละ 54.7) รายได้พอใช้ (ร้อยละ 59.3) ภูมิลำเนาในจังหวัดสงขลา (ร้อยละ 37.3) มีประสบการณ์การดูแล 2-5 ปี (ร้อยละ 42.7) ความรู้พบว่า ความรู้ในการดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่บ้านของผู้ดูแลในครอบครัวไทยมุสลิมโดยรวมและรายด้านอยู่ในระดับดี คือด้านการลดความเครียดของผู้ป่วยด้านการสังเกตอาการกำเริบ ด้านการทำงาน/ประกอบอาชีพ ด้านการดูแลกิจวัตรประจำวัน ด้านการจัดสิ่งแวดล้อม ด้านการรับประทานยา และผลข้างเคียงของยา ด้านความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับโรคจิตเภทมีคะแนนเฉลี่ยรายข้ออยู่ระหว่าง 0.81-0.98 (คะแนนแต่ละข้อเต็ม 1 คะแนน) การปฏิบัติพบว่า การปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่บ้านของผู้ดูแลในครอบครัวไทยมุสลิมโดยรวมและรายด้านอยู่ในระดับปฏิบัติสม่ำเสมอ คือด้านการสังเกตอาการกำเริบด้านการลดความเครียดของผู้ป่วย ด้านการจัดสิ่งแวดล้อม ด้านการทำงาน/ประกอบอาชีพ ด้านการดูแลกิจวัตรประจำวัน ด้านการรับประทานยา และ ผลข้างเคียงของยา คะแนนเฉลี่ยรายข้ออยู่ระหว่าง 1.44-1.90 (คะแนนแต่ละข้อเต็ม 2 คะแนน) ความต้องการการสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่บ้านของผู้ดูแลในครอบครัวไทยมุสลิม พบว่า ส่วนใหญ่ต้องการการสนับสนุนโดยรวมอยู่ในระดับปานกลางมีคะแนนเฉลี่ย 2.03 เมื่อพิจารณารายด้านพบว่า ด้านบริการเสริม ด้านแหล่งบริการ/วิธีการใช้บริการ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ต้องการในระดับมาก มีคะแนนเฉลี่ย 2.28 และ 2.26 ตามลำดับ ส่วนด้านการบริการ ด้านการสนับสนุนค่าใช้จ่าย พบว่ากลุ่มตัวอย่างต้องการในระดับปานกลาง มีคะแนนเฉลี่ย 1.93 และ 1.78 ตามลำดับ (คะแนนแต่ละข้อเต็ม 3 คะแนน) เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพพบว่า ผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเภทในครอบครัวไทยมุสลิมมีปัญหาในการดูแลผู้ป่วยบางประเด็นในเรื่องขาดความรู้เรื่องโรคจิตเภท วิธีการรับประทานยา และการปฏิบัติไม่ถูกต้องเมื่อถือศีลอด เมื่อผู้ป่วยมีอาการข้างเคียงของยา การลดความเครียดของผู้ป่วย ไม่ให้ผู้ป่วยเข้าร่วมกิจกรรมในชุมชนเพราะอาย และกลัวผู้ป่วยวุ่นวาย ปัญหาด้านเศรษฐกิจมีรายได้ไม่เพียงพอ ปัญหาด้านการสื่อภาษาด้วยภาษามลายูอักษรยาวี ข้อเสนอแนะ 1. ด้านบริการ นำมาพัฒนาระบบบริการการดูแลสุขภาพที่บ้านให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ดูแลชาวไทยมุสลิม 2. ด้านการบริหาร นำข้อมูลมาเป็นแนวทางในการบริหารงานในการควบคุมคุณภาพให้ถูกทิศทาง 3. ด้านการศึกษาพยาบาล นำข้อมูลที่ได้มาเพิ่มเติมหลักสูตรการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติงานในคลินิกและชุมชน 4. ด้านการวิจัย นำข้อมูลมาเป็นพื้นฐานในการศึกษาผู้ป่วยจิตเภทตามวิถีชีวิตของไทยมุสลิมโดยเฉพาะ

Keywords: จิตเภท, โรคจิต, การดูแลที่บ้าน, ไทยมุสลิม, ครอบครัว, ผู้ป่วยโรคจิต, จิตเวช, โรงพยาบาลสงขลานครินทร์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: กลุ่มงานการพยาบาล โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ กรมสุขภาพจิต

Code: 000000108

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -