ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: กลุ่มงานจิตเวช โรงพยาบาลเพชรบูรณ์

ชื่อเรื่อง/Title: การพัฒนาแนวทางการดูแลผู้ป่วยสุขภาพจิตในชุมชน

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 2 สุขภาพจิตกับยาเสพติด ปี 2546. หน้า 210-211. (วันที่ 19-21 สิงหาคม 2546 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพมหานคร)

รายละเอียด / Details:

การพัฒนาแนวทางการปฏิบัติงานด้านสุขภาพจิตและจิตเวช ให้สามารถตอบสนองต่อความคาดหวังของประชาชนผู้มารับบริการได้ ยอมรับในสิทธิเสรีภาพและปฏิบัติต่อประชาชนอย่างให้เกียรติ เสมอภาค เท่าเทียมกันทุกคน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายขององค์การอนามัยโลกปี 2000 ที่กล่าวถึงการมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี โดยเน้นให้ประชาชนทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในฐานะผู้บริโภค ผู้รับบริการ ผู้ให้การสนับสนุน หรือแม้แต่คนที่อยู่ในองค์กรสาธารณสุขเอง ต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบจัดการ พิทักษ์ผลประโยชน์และสิทธิด้านสาธารณสุข การบริการด้านสุขภาพจิต มักจะเกิดปัญหาความขัดข้อง ไม่สามารถให้บริการได้อย่างสะดวกรวดเร็วในบางสถานการณ์ ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขหรือลดปัญหาในการให้บริการ รวมทั้งความต้องการของผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลทางร่างกาย จิตใจ ที่มักเป็นที่ต้องการด้านพื้นฐานทางอารมณ์ ได้แก่ การได้รับการยอมรับ (Nedd for Acceptance) การนับถือในตนเอง (Need for self Esteem ) ต้องการการยอมรับ เอาใจใส่ (Need for Attention and Recognition) ต้องการความรัก (Need for Love) ต้องการความรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย (Need for Feeling of Security) และต้องการความเข้าใจ (Need for Understanding) ซึ่งทั้งปัญหาและความต้องการถ้าไม่ได้รับการแก้ไขหรือตอบสนองที่เหมาะสม อาจทำให้เกิดปัญหาติดตามมา กลุ่มงานจิตเวชโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ได้พัฒนารูปแบบการดำเนินงานติดตามผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน (เชิงรุก) ร่วมกับเครือข่ายสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวชสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพจิตที่ดี มีการรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชน การปรับเปลี่ยนทัศนคติในการดูแลผู้ป่วยจิตเวช การสร้างจิตสำนึกให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ในรูปแบบของการให้ประชาชนมีสิทธิประโยชน์ที่ตรงกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ผลการศึกษา จากการสำรวจปัญหา และความต้องการของผู้ป่วยและญาติในชุมชน ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2546 จนถึงมิถุนายน 2546 รวมทั้งสิ้น 54 ราย จาก 4 อำเภอ ผลการวิเคราะห์ข้อมูล ดังนี้ 1. สามารถดำเนินการปลดโซ่ตรวนผู้ป่วยโรคจิตได้สำเร็จ โดยไม่ต้องส่งต่อไปรับการรักษาในโรงพยาบาลจิตเวช จำนวน 8 ราย จากจำนวนผู้ล่ามขังที่สำรวจได้ 11 ราย คิดเป็นร้อยละ 72.72 โดยที่ผู้ป่วยจำนวนดังกล่าวไม่กลับไปล่ามขังอีก และครอบครัวยอมรับผู้ป่วย 2. สำหรับผู้ที่ปลดโซ่ตรวนไม่สำเร็จ จำนวน 1 ราย ปัจจัยที่ทำให้ญาติและชุมชนไม่ยอมรับเนื่องจากไม่มีความมั่นใจว่าผู้ป่วยจะไม่กลับมีอาการกำเริบซ้ำ แม้ว่าจะได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็พึงพอใจในอาการผู้ป่วยที่ดีขึ้น และผู้ป่วยอาศัยอยู่กับมารดาอายุมาก ไม่มีคนดูแลต้องการจะให้ไปรักษาเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาลจิตเวช 3. อยู่ระหว่างการปลดโซ่ตรวนผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรัง โดยเครือข่ายผู้ดูแลติดตามไปให้ยารักษาโดยยาฉีดชนิดระยะยาว 4. ผู้ป่วยโรคจิตที่ขาดการรักษาอย่างต่อเนื่องจากโรงพยาบาลจิตเวชอย่างน้อย 1 ปี ขึ้นไป ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ และพึงพอใจในการบริการของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ติดตามเยี่ยม 5. รูปแบบที่ญาติและชุมชนต้องการและพอใจมากที่สุดคือการติดตามเยี่ยมบ้านในชุมชน 6. ทัศนคติของครอบครัวและชุมชนต่อการดูแลผู้ป่วยโรคจิตสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้ หากได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง 7. บริการจิตเวชในพื้นที่ สามารถดูแลผู้ป่วยจิตเวชได้ ถึงแม้ว่าไม่มีจิตแพทย์ พยาบาลจิตเวชยังมีบทบาทที่สำคัญมากและสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพทำให้คุณภาพ ชีวิตของผู้ป่วยได้รับการฟื้นฟู และสังคมชุมชนให้การยอมรับผู้ป่วยโรคจิตมากขึ้น ข้อเสนอแนะ 1. ควรศึกษาปัญหาและความต้องการของผู้ป่วยและญาติในการดูแลการรักษาตามสิทธิผู้ป่วย และญาติ ในการดูแลรักษาตามสิทธิผู้ป่วยบางข้อที่สำคัญ เช่น การให้ข้อมูลการเจ็บป่วย การดูแลรักษา ความเสมอภาค เป็นต้น 2. ควรศึกษาปัญหาและความต้องการของผู้ป่วยโรคจิต ซึ่งเป็นโรคที่พบมากและมีอัตราการกลับมาป่วยซ้ำมากที่สุด เพื่อที่จะได้รับการดูแลรักษาอย่างมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพ

Keywords: จิตเวชชุมชน, ผู้ป่วยจิตเวช, บริการสุขภาพจิต, จิตเวช, จิตวิทยา, บริการ, ประชาชน, กลุ่มงานจิตเวช โรงพยาบาลเพชรบูรณ์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: กลุ่มงานจิตเวช โรงพยาบาลเพชรบูรณ์

Code: 000000109

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -