ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: นิตยา เศรษฐจันทร

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาเปรียบเทียบผลการบำบัดโดยใช้โปรแกรมจิตสังคมบำบัดสำหรับผู้ป่วยในแบบ 7 วัน และ 14 วัน

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 2, สุขภาพจิตกับยาเสพติด ปี 2546, หน้า 98-99. (วันที่ 19-21 สิงหาคม 2546 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพมหานคร)

รายละเอียด / Details:

โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ ได้เปิดให้บริการบำบัดผู้ติดสารเสพติดที่ศูนย์จิตสังคมบำบัด โดยใช้โปรแกรมจิตสังคมบำบัดสำหรับผู้ป่วยในแบบ 14 วัน จากการดำเนินงานพบว่าผู้รับการบำบัดไม่สามารถเข้ารับการบำบัดครบตามโปรแกรมดังกล่าว เนื่องจากระยะเวลาที่ใช้ในการบำบัด มีผลกระทบต่อครอบครัวและเศรษฐกิจ ดังนั้น ศูนย์จิตสังคมบำบัดจึงได้ปรับแผนการบำบัด จาก 14 วัน เป็น 7 วัน เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโปรแกรมจิตสังคมบำบัดสำหรับผู้ป่วยในแบบ 7 วัน โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จึงได้ศึกษาวิจัย เรื่องการศึกษาเปรียบเทียบผลการบำบัดของโปรแกรมจิตสังคมบำบัดสำหรับผู้ป่วยในแบบ 7 วัน และ 14 วัน เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้รับการบำบัดอีกทางหนึ่งต่อไป วัตถุประสงค์ เปรียบเทียบผลการบำบัดของโปรแกรมจิตสังคมบำบัด สำหรับผู้ป่วยในแบบ 7 วัน และ 14 วัน ขอบเขตของการวิจัย ศึกษาในผู้รับการบำบัดเพศชาย ที่มีประวัติเสพยาบ้า ที่ส่งตัวจากสำนักคุมประพฤติ นครราชสีมา สีคิ้ว ชัยภูมิ รวมทั้งผู้รับการบำบัดที่สมัครใจเข้ารับการบำบัดจำนวน 484 คน โดยใช้โปรแกรมจิตสังคมบำบัดแบบประยุกต์ 7 วันและ 14 วัน ณ ศูนย์จิตสังคมบำบัด สรุปผลการวิจัย ผลการบำบัดพบว่า ผู้รับการบำบัดโปรแกรม 7 วัน ร้อยละ 96.75 ไม่กลับไปเสพยาซ้ำภายใน 6 เดือน อีกร้อยละ 3.25 กลับไปเสพยาซ้ำ และมีผู้รับการบำบัดย้อนกลับมารักษาซ้ำจำนวน 6 คน คิดเป็นร้อยละ 2.16 ของผู้รับการบำบัดโปรแกรม 7 วัน ส่วนผู้รับการบำบัดโปรแกรม 14 วัน พบว่า ร้อยละ 98.55 ไม่กลับไปใช้ยาซ้ำภายใน 6 เดือน อีกร้อยละ 1.45 กลับไปเสพยาซ้ำ และมีผู้รับการบำบัดย้อนกลับมารักษาซ้ำ จำนวน 2 คน คิดเป็นร้อยละ 0.96 ของผู้รับการบำบัดโปรแกรม 014 วัน สำหรับค่าใช้จ่ายในการบำบัดรักษาพบว่าโปรแกรม 7 วัน สิ้นค่าใช้จ่ายในการรักษาทั้งสิ้น เป็นเงิน 794,713บาท คิดเป็นค่าเฉลี่ยของค่าใช้จ่ายในการรักษาต่อคนเท่ากับ 2,869บาท ส่วนค่าใช้จ่ายในการบำบัดรักษาโปรแกรม 14 วัน พบว่าสิ้นค่าใช้จ่ายในการรักษาทั้งสิ้น 882,418.23บาท คิดเป็นค่าเฉลี่ยของค่าใช้จ่ายต่อคน เท่ากับ 4,262.89บาท ข้อเสนอแนะ น่าจะมีการศึกษาวิจัยในเรื่องดังนี้ 1. ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อความแตกต่างระหว่างการบำบัดโดยใช้โปรแกรมจิตสังคมบำบัดสำหรับผู้รับการบำบัดแบบ 7 วัน และ 14 วัน 2. ศึกษาถึงความสัมพันธ์ของโปรแกรมจิตสังคมบำบัดแบบผู้ป่วยในกับการเลิกเสพยาเสพติดของผู้เข้ารับการบำบัด 3. ศึกษาถึงผลกระทบของปัจจัยภายนอกที่มีต่อการตัดสินใจใช้ยาเสพติด ของผู้รับการบำบัดตามโปรแกรมจิตสังคมบำบัดแบบผู้ป่วยใน 4.ศึกษาเปรียบเทียบการบำบัดโปรแกรมจิตสังคมบำบัดแบบผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน

Keywords: โปรแกรมจิตสังคมบำบัด, ผู้ติดสารเสพติด, ยาเสพติด, จิตสังคมบำบัดแบบผู้ป่วยใน, ยาบ้า, จิตสังคมบำบัด, matrix program

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต

Code: 00000011

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -