ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: พิมพ์ทอง เจ๊กจันทึก

ชื่อเรื่อง/Title: การประเมินผลโครงการส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 2 สุขภาพจิตกับยาเสพติด ปี 2546. หน้า 212. (วันที่ 19-21 สิงหาคม 2546 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพมหานคร)

รายละเอียด / Details:

การพัฒนาให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน ได้เริ่มดำเนินการครั้งแรกเมื่อปี 2541 โดยโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขการพัฒนาดังกล่าวส่งผลดีต่อผู้ป่วยจิตเวช ครอบครัว และชุมชน กรมสุขภาพจิตเห็นความสำคัญของการพัฒนาดังกล่าว จึงได้สนับสนุนให้มีการขยายการดำเนินโครงการไปยังจังหวัดต่างๆ ของทุก ภูมิภาคในงบประมาณ 2545 ผู้ศึกษาในฐานะคณะทำงานมีความสนใจถึงผลลัพธ์ของการดำเนินโครงการโดยมีวัตถุประสงค์คือ เพื่อศึกษาผลการดำเนินโครงการ ส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน ในปีงบประมาณ 2545 ของกรมสุขภาพจิต มีเป้าหมายในการดำเนินงานใน 38 จังหวัด จังหวัดละ 1 ชุมชน ซึ่งเป็นชุมชนที่มีผู้ป่วยจิตเวชในชุมชนใช้แบบประเมิน CIPP MODEL ประชากรในการประเมินได้แก่ บุคลากรสาธารณสุขที่เข้ามาร่วมสัมมนาเครือข่าย การดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชนจำนวน 523 คน บุคลากรสาธารณสุขที่เข้าอบรมเทคนิคการจัดกิจรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดูแลผู้ป่วยจิตเวช จำนวน 328 คน ผู้นำชุมชน และประชาชน ที่ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน จำนวน 326 คน ซึ่งใช้การสุ่มตัวอย่างแบบ Simple Random Sampling และผู้ป่วยจิตเวชที่อาศัยอยู่ในชุมชนของจังหวัดที่ดำเนินโครงการ จำนวน 252 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินประกอบด้วยแบบประเมินการสัมมนา-การอบรม แบบทดสอบความรู้ และทัศนคติและแนวทางการประเมินสภาพผู้ป่วยจิตเวช วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการวิเคราะห์เนื้อหา และข้อมูลเชิงปริมาณโดยค่าสถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่า (t-test paired) ผลการศึกษา การดำเนินโครงการได้ผลมากกว่าเป้าหมาย คือ มีจังหวัดที่เข้าร่วมดำเนินโครงการ 40 จังหวัด โดยพบว่าบุคลากรสาธารณสุขที่เข้าร่วมสัมมนาเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน ส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่าการสัมมนาเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานในระดับมาก และคิดว่าได้รับประโยชน์จากการสัมมนา ครั้งนี้ การประเมินผลการอบรมวิทยากร เทคนิคการจัด กิจกรรมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชนให้แก่บุคลากรสาธารณสุข พบว่า การอบรมหลัง 9 รุ่น/ ของภาค 4 ภาค หลังการอบรมบุคลากรสาธารณสุข มีความรู้มากกว่าก่อนการอบรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิตที่ระดับ .01 และส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่า การอบรมมีประโยชน์มากถึงมากที่สุด และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการปฏิบัติงาน การประเมินผลการมีส่วนร่วมของญาติ และชุมชนในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชนพบว่า ญาติและประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยจิตเวช เช่น มีการติดตามเยี่ยมผู้ป่วยซึ่งมีผลทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น สามารถช่วยเหลืองานตามความสามารถของตนเองได้ ข้อเสนอแนะ 1. ควรมีการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง 2. ควรมีการติดตามเยี่ยมชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยระบบเครือข่าย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้นำชุมชนและประชาชนได้ปรึกษาหารือ ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้มแข็ง เพื่อการพัฒนาด้านอื่นๆ ต่อไป

Keywords: จิตเวชชุมชน, ผู้ป่วยจิตเวช, จิตเวช, ผู้ป่วยโรคจิต, ผู้นำชุมชน

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ กรมสุขภาพจิต

Code: 000000110

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -