ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: กินรี จันทรรัตน์

ชื่อเรื่อง/Title: ปัจจัยที่มีผลต่อความเครียดของผู้ป่วยก่อนระงับความรู้สึกเพื่อทำผ่าตัดใหญ่ โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 17

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 6 ,24-26 มิถุนายน 2541

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้ ต้องการศึกษาความเครียดและปัจจัยที่มีผลต่อความเครียดของผู้ป่วยก่อนระงับความรู้สึก เพื่อทำผ่าตัดใหญ่ของโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 17 โดยมุ่งศึกษาปัจจัยเกี่ยวกับเพศ อายุ ระดับการศึกษา สถานภาพสมรส อาชีพ รายได้ วิธีเสียค่ารักษา แผนกผู้ป่วย บริเวณที่ทำผ่าตัด ประสบการณ์ที่เคยดมยาสลบมผ่าตัด การเยี่ยมก่อนผ่าตัด ความรู้และความเชื่อเกี่ยวกับการระงับความรู้สึกและการผ่าตัดโดยการสัมภาษณ์ผู้ป่วยก่อนผ่าตัด จำนวน 240 คน ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างจากผู้ป่วยในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2540 การวิเคราะห์ข้อมูลหาจำนวน ร้อยละ คะแนนเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและวิเคราะห์ถดถอยพหุคุณแบบขั้นตอน (Stepwise Multiple Regression Analysis) ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ ผู้ป่วยก่อนระงับความรู้สึกผ่าตัดมีระดับความเครียดค่อนข้างน้อย ปัจจัยที่มีผลต่อความเครียดของผู้ป่วย ได้แก่ สถานภาพสมรส แผนกผู้ป่วย บริเวณที่ทำผ่าตัด การเยี่ยมก่อนผ่าตัด ความรู้และความเชื่อเกี่ยวกับการระงับความรู้สึกและการผ่าตัดโดยผู้ป่วยที่สถานภาพสมรส โสด หม้าย หย่า แยกมีความเครียดมากกว่าผู้ป่วยสถานภาพสมรสคู่ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.001 ผู้ป่วยผ่าตัดแผนกศัลยกรรมนรีเวชและแผนกศัลยกรรมกระดูกและข้อ มีความเครียดมากกว่าผู้ป่วยแผนกศัลยกรรมทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 ผู้ป่วยที่ผ่าตัดบริเวณแข้งขาและอวัยวะสืบพันธุ์มีความเครียดมากกว่าผู้ป่วยผ่าตัดบริเวณช่องท้อง ศีรษะ คอ หลัง ไหล่ รักแร้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 ผู้ป่วยที่ได้รับการเยี่ยมก่อนผ่าตัดมีความเครียดมากว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการเยี่ยมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 ผู้ป่วยที่มีความรู้น้อยมีความเครียดมากกว่าผู้ป่วยที่มีความรู้มากอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 ผู้ป่วยที่มีความเชื่อน้อยมีความเครียดมากกว่าผู้ป่วยที่มีความเชื่อมากอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.001 และพบว่าปัจจัยที่ผลต่อความเครียดร่วมกันได้แก่ ความเชื่อ สถานภาพสมรส การเยี่ยมก่อนผ่าตัด ระดับการศึกษา ร่วมกันพยากรณ์ระดับความเครียดของผู้ป่วยก่อนผ่าตัดได้ร้อยละ 18 ข้อเสนอแนะ ปรับปรุงวิธีการเยี่ยมก่อนผ่าตัดให้มีแบบแผนและควรศึกษาเปรียบเทียบระหว่างผู้ป่วยที่ได้รับการเยี่ยมแบบเดิมกับอย่างมีแบบแผน และที่ไม่ได้รับการเยี่ยมว่ามีความสัมพันธ์ต่อความเครียดมากน้อยเพียงใด และเสริมสร้างความรู้และความเชื่อเกี่ยวกับการระงับความรู้สึกและการผ่าตัดเพื่อลดความเครียดของผู้ป่วย

Keywords: psychology, mental health, stress, ความเครียด, เครียด, สุขภาพจิต, ผ่าตัด, ความเชื่อ

ปีที่เผยแพร่/Year: 2541

Address: โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 17 จังหวัดสุพรรณบุรี สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข

Code: 200410006018

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข

Download: -