ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: นชพร อิทธิวิศวกุล, จินตนา ประวีณวงศ์วุฒิ

ชื่อเรื่อง/Title: ลักษณะผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมฆ่าตัวตาย ; การศึกษาในผู้ป่วยที่รับปรึกษาของกลุ่มงานจิตเวช โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ปี 2539

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 6, 24-26 มิถุนายน 2541

รายละเอียด / Details:

งานรับปรึกษาผู้ป่วยของกลุ่มงานจิตเวชโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา รับปรึกษาผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมฆ่าตัวตาย จากสถิติ 3 ปีย้อนหลัง (ปี พ.ศ.2537-2539) พบว่ายอดผู้รับปรึกษาที่มีพฤติกรรมฆ่าตัวตายโดยเฉลี่ยร้อยละ 45 ของผู้ป่วยที่รับปรึกษาทั้งหมด งานวิจัยครั้งนี้ทำการศึกษาข้อมูลที่ได้จากแบบบันทึกประวัติผู้ป่วยทางจิตเวชที่รับปรึกษาที่มีพฤติกรรมฆ่าตัวตายในปี พ.ศ.2539 (1 มกราคม-31 ธันวาคม) โดยมีจุดประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะของผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมฆ่าตัวตายในด้านข้อมูลทั่วไป, พฤติกรรมฆ่าตัวตายและปัญหาที่เป็นสาเหตุกระตุ้น พบว่ามีผู้ป่วยทั้งหมด 177 คนฆ่าตัวตายสำเร็จ 36 คน (ร้อยละ 20) สัดส่วนของเพศชายต่อเพศหญิงเท่ากับ 1:1 มีอายุ 11-86 ปี พบมากที่สุดช่วงอายุ 20-29 ปี (ร้อยละ 27) ช่วงอายุ 10-39 ปี พบถึงร้อยละ 70, มีสถานภาพสมรสคู่, โสดและหม้าย/หย่า ร้อยละ 58, 33 และ 8 ตามลำดับ ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง ร้อยละ 40 รองลงมา คือ เกษตรกร, ไม่มีงานทำและนักเรียน ร้อยละ 31, 16 และ 8 ตามลำดับ วิธีการที่พบบ่อยที่สุด คือ การกินสารพิษ ร้อยละ 55 รองลงมาคือใช้หลายวิธีร่วมกัน และรับประทานยาเกินขนาด ร้อยละ 21 และ 19 ตามลำดับ สารพิษที่ใช้บ่อยคือยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต และมักมีการใช้สุรา (เมาสุรา, ดื่มผสมยาหรือสารพิษ) ร่วมด้วย มีประวัติการดื่มสุราเป็นประจำ ร้อยละ 52 และติดสุราเรื้อรังร้อยละ 5 ผู้ป่วยเคยเป็นโรคทางจิตเวชร้อยละ 27 ส่วนใหญ่เป็นโรคจิต รองมามีอาการทางจิตจากการใช้สารเสพติด (สุรา, ยาบ้า) และกลุ่มโรคซึมเศร้า ประวัติครอบครัวมีโรคทางจิตเวชร้อยละ 18 ได้แก่ โรคจิต, เคยมีพฤติกรรมฆ่าตัวตายครั้งนี้ส่วนใหญ่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นภาวะการปรับตัวผิดปกติ ร้อยละ 46 กลุ่มโรคซึมเศร้าร้อยละ 32 ปัญหาที่เป็นสาเหตุกระตุ้นมักเกิดจากความสัมพันธ์ของบุคคลใกล้ชิด (คู่ครอง, คนในครอบครัว) ร้อยละ 50 และส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื้อรังในชีวิตอยู่แล้ว โดยเป็นเรื่องของความสัมพันธ์กับบุคคลใกล้ชิด (ทะเลาะ, ตบตี, ไม่พอใจในนิสัยของคนในครอบครัว) รองมามีการใช้เหล้า, บุหรี่เป็นประจำและมีปัญหาทางเศรษฐกิจ การศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า พฤติกรรมฆ่าตัวตายเป็นปัญหาทางสุขภาพจิตที่สำคัญในผู้ป่วยที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา มักเกิดจากปัญหาความสัมพันธ์ของบุคคลใกล้ชิดและมีการใช้สุราร่วมด้วย

Keywords: counselling, counseling, psychiatry, suicide, การฆ่าตัวตาย, ฆ่าตัวตาย, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, พฤติกรรมฆ่าตัวตาย

ปีที่เผยแพร่/Year: 2541

Address: โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข

Code: 200410006050

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข

Download: -