ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: จิระนันท์ พากเพียร

ชื่อเรื่อง/Title: ปัจจัยเชิงสาเหตุทางจิตวิทยาสังคมของเจตนาที่จะป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาลของนักศึกษาทันตาภิบาล

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 6, 24-26 มิถุนายน 2541

รายละเอียด / Details:

ในสภาวะที่โรคเอดส์แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วเช่นปัจจุบันนี้ นักศึกษาทันตาภิบาลจำเป็นต้องใช้หลักการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาลกับผู้ป่วยทุกคนเสมอภาคกันเพื่อป้องกันทั้งตนเองและผู้ป่วยจากการติดเชื้อ การวิจัยนี้มีจุดประสงค์ศึกษาปัจจัยเชิงสาเหตุทางจิตวิทยาสังคม ของความตั้งใจที่จะป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาลของนักเรียนทันตาภิบาล โดยใช้แบบวัดตัวแปรทางจิตวิทยาสังคม 5 ตัว ได้แก่ เจตคติต่อการป้องกันการติดเชื้อ การคล้อยตามกลุ่มอ้างอิง การรับรู้ความสามารถควบคุมพฤติกรรม การรับรู้ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และการป้องกันการติดเชื้อในอดีตที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเอง และผ่านการตรวจสอบคุณภาพแล้ว กลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษาทันตาภิบาลชั้นปีที่ 2 จำนวน 86 คน ใช้สถิติถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอนในการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า 1. การรับรู้ความสามารถควบคุมพฤติกรรม ทำนายเจตนาที่จะป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (วิเคราะห์รวม) ของนักศึกษาทันตาภิบาลได้ร้อยละ 10.55 (P‹ .01) 2. การรับรู้ความสามารถควบคุมพฤติกรรมและการใส่แว่นตาป้องกันฯ ในอดีต ร่วมกันทำนายเจตนาที่จะใส่แว่นตาป้องกันน้ำลายตลอดเวลาขณะขูดหินน้ำลายของนักศึกษาทันตาภิบาล ได้ร้อยละ 24.97 (P< .0001) 3. การรับรู้ความสามารถควบคุมพฤติกรรมทำนายเจตนาที่จะใส่แว่นตาป้องกันตลอดเวลาขณะถอนฟันของนักศึกษาทันตาภิบาลได้ร้อยละ 14.40 (P< .001) 4. เจตคติต่อพฤติกรรมและคล้อยตามกลุ่มอ้างอิง ร่วมกันทำนายเจตนาที่จะใช้มือเดียวสวมปลอกเข็มคืนทุกครั้งหลังฉีดยาชาของนักศึกษาทันตาภิบาล ได้ร้อยละ 27.78 (P< .001) 5. เจตคติต่อพฤติกรรมและการรับรู้ความสามารถควบคุมพฤติกรรม ร่วมกันทำนายเจตนาที่จะใช้ปากคีบสวมปลอกเข็มคืนทุกครั้งหลังฉีดยาชาของนักศึกษาทันตาภิบาล ได้ร้อยละ 42.03 (P< .001) 6. เจตคติต่อพฤติกรรมและการรับรู้ความสามารถควบคุมพฤติกรรม ร่วมกันทำนายเจตนาที่จะทำความสะอาดด้ามกรอฟันอย่างถูกวิธี ทุกครั้งก่อนเปลี่ยนผู้ป่วยของนักศึกษาทันตาภิบาล ได้ร้อยละ 11.30 (P< .01) ดังนั้น การส่งเสริมการรับรู้ความสามารถควบคุมพฤติกรรมและการคล้อยตามกลุ่มอ้างอิงจะช่วยให้นักศึกษาทันตาภิบาลมีความตั้งใจและพยายามที่จะป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล ซึ่งจะนำไป สู่งานทันตกรรมที่ปลอดภัยทั้งต่อตัวนักศึกษาเองและต่อประชาชนผู้มารับบริการต่อไป

Keywords: AIDS, behavior, behaviour, dental, HIV, psychiatry, psychology, social, จิตวิทยา, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, ทันตกรรม, พฤติกรรม, โรคเอดส์, สังคม, เอดส์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2541

Address: วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธรจังหวัดขอนแก่น สถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข

Code: 200410006064

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข

Download: -