ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ราตรี ต.ไชยสุวรรณ, สุดา วิไลเลิศ

ชื่อเรื่อง/Title: การสนับสนุนทางครอบครัวในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 7 , พ.ศ. 2542

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงบรรยายแบบสำรวจ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการสนับสนุนทางครอบครัวในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยทั้งเพศชายและเพศหญิงที่เข้ารับการรักษาในคลินิกโรคหัวใจ แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลชลบุรี จำนวน 119 คน โดยเลือกตามคุณสมบัติที่กำหนด เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล และแบบสอบถามการสนับสนุนทางครอบครัวทั้ง 3 ด้าน ประกอบด้วยการช่วยเหลือในด้านสิ่งของ การสนับสนุนด้านอารมณ์และการได้ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งสร้างโดย ภาวดี มโนหาญ ผ่านการหาความเที่ยงตรงด้านเนื้อหาและความเชื่อมั่น ได้ค่าสัมประสิทธิ์ความเชื่อมั่นเท่ากับ .071 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรม SPSS/PC หาความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน การค่าที และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว ผลการศึกษา 1. ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวส่วนใหญ่เป็นเพศชาย มีอายุมากกว่า 60 ปี สถานภาพสมรสคู่ อาศัยอยู่นอกเขตเทศบาล การศึกษาอยู่ในระดับประถมศึกษา ไม่ได้ประกอบอาชีพ ครอบครัวมีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยว รายได้ครอบครัวไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย มีระยะเวลาที่เป็นโรคไม่เกิน 5 ปี ความรุนแรงของโรคอยู่ในระดับที่ 2 คือมีอาการขณะทำกิจวัตรประจำวันหรือเมื่อออกแรงมากกว่าปกติ และมาตรวจตามแพทย์นัดทุกครั้ง 2. ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวมีการสนับสนุนทางครอบครัวอยู่ในระดับปานกลางที่ x = 1.76 , S.D. = 0.69 3. การสนับสนุนทางครอบครัวที่ได้รับมากที่สุด คือ การสนับสนุนทางด้านอารมณ์ ด้านที่ได้รับน้อยที่สุด คือ การช่วยเหลือด้านสิ่งของและบริการ 4. ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว ที่มีเพศ ความเพียงพอของรายได้ครอบครัวและการมาตรวจตามนัดต่างกัน ได้รับการสนับสนุนทางครอบครัวแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ข้อเสนอแนะ จากผลการวิจัยครั้งนี้คณะผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะว่า ผู้บริหารควรนำข้อมูลที่ได้รับจากการวิจัยไปประกอบในการวางแผน และดำเนินการจัดบริการที่จะช่วยให้ผู้ป่วยที่ได้รับการสนับสนุนทางครอบครัวมากขึ้น และควรเน้นให้บุคลากรทางการพยาบาลมีการส่งเสริมให้ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวและครอบครัวมีส่วนร่วมในการรักษาพยาบาลตลอดจนการดูแลตนเองของผู้ป่วยอย่างถูกต้อง โดยมีการประสานงานกับทีมสุขภาพอื่น เช่น หน่วยให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ (Counselling) หน่วยดูแลสุขภาพที่บ้าน (Home Health Care) แผนกสังคมสงเคราะห์ เป็นต้น เพื่อลดผลกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ ที่จะทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้นและมีอันตรายถึงชีวิต และช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

Keywords: family, mental health, ครอบครัว, สุขภาพจิต

ปีที่เผยแพร่/Year: 2542

Address: โรงพยาบาลชลบุรี สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข

Code: 200420007074

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข

Download: -