ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ยุ้กฟอง ศรีประสาธน์

ชื่อเรื่อง/Title: ศึกษาความสามารถถอดและใส่กางเกงชั้นในเพื่อขับถ่ายของบุคคลปัญญาอ่อนเพศหญิงระดับรุนแรง จากการสอนโดยใช้หลักการวิเคราะห์งานและมีอุปกรณ์ช่วยจับขอบเอวกางเกงชั้นใน

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 2 สุขภาพจิตกับยาเสพติด ปี 2546. หน้า 224. (วันที่ 19-21 สิงหาคม 2546 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพมหานคร)

รายละเอียด / Details:

ปัจจุบันปัญหาที่พบเกี่ยวกับการช่วยเหลือตนเองในการถอดและใส่กางเกงชั้นในเพื่อขับถ่ายของบุคคลปัญญาอ่อนเพศหญิงระดับรุนแรง ส่วนมากเด็กยังไม่สามารถทำได้ด้วยตนเอง เนื่องมาจากเด็กได้รับการช่วยเหลือมาโดยตลอดทำให้ขาดโอกาสในการฝึกปฏิบัติ ประกอบกับขอบเอวกางเกงชั้นในปกติจะเล็กและบาง ยากต่อการจับถือ โดยเฉพาะเด็กที่มีกล้ามเนื้อมือไม่แข็งแรงจะไม่สามารถทำกิจกรรมนี้ด้วยตนเองได้ ด้วยเหตุนี้ผู้วิจัยจึงคิดประดิษฐ์อุปกรณ์ช่วยจับขอบเอวกางเกงชั้นในรวมทั้งหาเทคนิควิธีการสอนโดยทำการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ขึ้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาความสามารถในการถอดและ ใส่กางเกงชั้นในเพื่อขับถ่ายของบุคคลปัญญาอ่อนเพศหญิง ระดับรุนแรง อายุ 9-17 ปี โดยใช้หลักการวิเคราะห์งานและมีอุปกรณ์ช่วยจับขอบเอวกางเกงชั้นใน กลุ่มตัวอย่างเป็นบุคคลปัญญาอ่อนเพศหญิงระดับรุนแรงอายุ 9-17 ปี เชาวน์ปัญญา 20-34 วัดโดยแบบทดสอบ Standord Binet ในหอผู้ป่วยหญิง 2 สถาบันราชานุกูล ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2545-30 กันยายน 2545 ใช้วิธีเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เฉพาะบุคคลที่ไม่สามารถถอดและใส่กางเกงชั้นในเพื่อขับถ่ายด้วยตนเองได้ จำนวน 5 คน เครื่องมือทดลองเป็นการสอน โดยใช้หลักการวิเคราะห์งานและมีอุปกรณ์ช่วยจับขอบเอวกางเกงชั้นใน ซึ่งมีขั้นตอนการสอนตามหลักการ 12 ขั้นตอน การรวบรวมข้อมูลเป็นแบบฟอร์มการประเมินความสามารถในการถอดและใส่กางเกงชั้นในเพื่อขับถ่ายทุกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2545-30 กันยายน 2545 การทดลองเป็นการสอนตามแผนการสอนที่กำหนดไว้เป็นรายบุคคล คนละ 40 ครั้ง ครั้งละ 15 นาที รวม 10 ชั่วโมง การวิเคราะห์ข้อมูลทำโดยการนับจำนวนครั้งที่เด็กสามารถทำผ่านได้ในแต่ละขั้นตอนและความสามารถ โดยรวมในคะแนนคิดเป็นร้อยละ ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ ึความสามารถถอดและใส่กางเกงชั้นในเพื่อขับถ่ายของบุคคลปัญญาอ่อนเพศหญิง ระดับรุนแรง อายุ 9-17 ปี หลังการสอนถอดและใส่กางเกงชั้นในเพื่อขับถ่ายโดยใช้หลักการวิเคราะห์งานและมีอุปกรณ์ พบว่าเด็ก 4 ใน 5 คน สามารถทำได้ อยู่ในระดับดี และสามารถถอดและใส่กางเกงชั้นในเพื่อขับถ่าย ภายหลังจากถอดอุปกรณ์ออกแล้วอยู่ในระดับดีเช่นกัน ส่วนอีก 1 คนที่มีกล้ามเนื้ออ่อนแรงมาก ยังมีความสามารถถอดและใส่กางเกงชั้นในเพื่อขับถ่ายทั้งแบบมีอุปกรณ์และไม่มีอุปกรณ์อยู่ในระดับต่ำ ข้อเสนอแนะ จากผลการวิจัยนี้ผู้สนใจสามารถนำไปประยุกต์ได้ทั้งเด็กปกติและเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้ารวมถึงเด็ก CP เนื่องจากการฝึกโดยมีสื่ออุปกรณ์และเทคนิควิธีการสอนนี้จะช่วยให้เด็กสามารถทำกิจกรรมสำเร็จได้ง่ายซึ่งจะ ทำให้เด็กภาคภูมิใจ รวมถึงผู้ฝึกก็จะมีกำลังใจในการฝึกเด็กมากยิ่งขึ้นเช่นกัน

Keywords: ปัญญาอ่อน, เด็ก, การช่วยเหลือตนเอง, การถอดและใส่กางเกง, เทคนิคการสอน, MR, mental retardatin

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: กลุ่มการพยาบาล สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต

Code: 000000113

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -