ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สุวัฒน์ มหัตนิรันดร์กุล

ชื่อเรื่อง/Title: การติดตามผลการดำเนินโรคของโรคจิตจากเมทแอมเฟตามีน 6 เดือน และปัจจัยเสี่ยงในการกลับป่วยซ้ำ

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 2 สุขภาพจิตกับยาเสพติด ปี 2546. หน้า 225. (วันที่ 19-21 สิงหาคม 2546 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพมหานคร)

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาลักษณะการดำเนินโรคของโรคจากเมทแอมเฟตามีน เมื่อติดตามผล 6 เดือน และศึกษาปัจจัยเสี่ยงในการกลับป่วยซ้ำในผู้ป่วยโรคจิตจากเมทแอมเฟตามีน วิธีการศึกษา การศึกษาแบบไปข้างหน้าในผู้ป่วยโรคจิตจากเมทแอมเฟตามีนของโรงพยาบาลจิตเวช 8 แห่ง ที่ได้รับการรักษาแบบผู้ป่วยใน 4 สัปดาห์ และกลุ่มตัวอย่างยินยอมจะติดตามการรักษาแบบผู้ป่วยนอกทุกหนึ่งเดือน เป็นเวลา 6 เดือน โดยผู้ป่วยจะได้รับการประเมินอาการทางจิตด้วย Brief psychiatric rating scale (BPRS) และ Clinical global impression scale (CGI) และตรวจหาสารเมทแอมเฟตามีนในปัสสาวะทุกเดือนจนครบ 6 เดือน ผู้ป่วยที่ไม่มาตามนัด จะได้รับการติดตามทางจดหมายหรือโทรศัพท์ถึงการกลับป่วยซ้ำของอาการโรคจิต การเสพเมทแอมเฟตามีนซ้ำ การเสพสารเสพติดอื่นร่วม การมีตัวกระตุ้นทางจิตสังคม และการกินยารักษาโรคจิต ผลการศึกษา มีกลุ่มตัวอย่างที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 97 คน โดยมีทั้งกลุ่มที่มาตามนัดหมายและไม่มาตามนัดหมายทุกเดือนแต่จะมาติดตามอย่างน้อย 1 ครั้ง ระหว่างเดือนที่ 2 ถึงเดือนที่ 6 พบว่า ลักษณะการดำเนินโรคสามารถแบ่งได้ 3 ลักษณะ คือ 1) Psychosis remission หมายถึง กลุ่มตัวอย่างที่มีอาการสงบหลังการรับการรักษา และตลอดระยะเวลาที่ติดตาม 2) Psychosis relapse หมายถึง กลุ่มตัวอย่างที่มีอาการสงบหลังรับการรักษา แล้วพบการกลับป่วยซ้ำในระยะเวลาที่ติดตามและ 3) Psychosis persistence หมายถึงกลุ่มตัวอย่างที่มีอาการโรคจิตคงอยู่ตั้งแต่หลังรับการรักษาหนึ่งเดือนในโรงพยาบาลจนถึงระยะเวลาที่ติดตาม โดยกลุ่มตัวอย่างที่มีการกลับป่วยซ้ำของอาการโรคจิต (psychosis relapse) นั้น สะสมเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่ติดตามจนสิ้นสุดเดือนที่ 6 พบ 40 ราย และ พบว่า การเสพเมทแอมเฟตามีนซ้ำเป็นปัจจัยเสี่ยงในการกลับป่วยซ้ำของอาการโรคจิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (hazard ratio=2.90, 95%CI=1.46-5.79) โดยกลุ่มตัวอย่างที่เสพเมทแอมเฟตามีนซ้ำมีโอกาสกลับป่วยซ้ำเป็น 2.9 เท่าของกลุ่มที่ไม่เสพซ้ำ ในขณะที่การใช้สารเสพติดอื่น เช่น แอลกอฮอล์ คาเฟอีน กัญชา พบปัจจัยเสี่ยงในการกลับป่วยซ้ำของอาการโรคจิตแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนปัจจัยตัวกระตุ้นทางจิตสังคม และการกินยารักษาโรคจิตไม่พบว่าสัมพันธ์กับการกลับป่วยซ้ำของอาการโรคจิต สรุปผลการศึกษา ลักษณะการดำเนินโรคของโรคจิตจากเมทแอมเฟตามีนในระยะยาวภายหลังติดตามการรักษา 6 เดือน พบว่ามีอย่างน้อย 3 ลักษณะคือ Psychosis remission, Psychosis relapse และ Psychosis persistence การแนะนำให้ผู้ป่วยงดการเสพเมทแอมเฟตามีนซ้ำ น่าจะช่วยลดอัตราเสี่ยงของการกลับป่วยซ้ำของอาการโรคจิตได้

Keywords: โรคจิต, จิตเวช, ยาบ้า, เมทแอมเฟตามีน, ผู้ป่วยโรคจิต, ยารักษาโรคจิต, ยาเสพติด, สารเสพติด, amphetamine

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: โรงพยาบาลสวนปรุง, สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา, โรงพยาบาลศรีธัญญา กรมสุขภาพจิต

Code: 000000114

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -