ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ยุทธนา ประนุช, สมชัย จิรโรจน์วัฒน, อัศุเลิศ พิชิตพงศ์เผ่า

ชื่อเรื่อง/Title: การสร้างศักยภาพเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ของชมรมอาสาพัฒนาชุมชนภาคตะวันออก

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 7,พ.ศ. 2542

รายละเอียด / Details:

ปัญหาที่สลับซับซ้อนของโรคเอดส์ ทำให้ชุมชนต้องเข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์มากขึ้นจึงจำเป็นต้องมีการสร้างและส่งเสริมความร่วมมือของชุมชนให้มีความรู้ความเข้าใจและสามารถจัดกิจกรรมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความรู้ความคิดเห็นเกี่ยวกับโรคเอดส์ ตลอดจนให้มีการจัดกิจกรรมเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ โดยจัดอบรมแบบการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (PL) การวิเคราะห์ชุมชนแบบมีส่วนร่วม (PRA) และการจัดสนทนากลุ่ม กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาเป็นคณะกรรมการของชมรมอาสาพัฒนาชุมชน (อช.) ภาคตะวันออก ซึ่งเป็นตัวแทนของสมาชิกชมรม อช. แต่ละจังหวัด (7 จังหวัด) จำนวน 35 คน เก็บข้อมูลโดยใช้แบบทดสอบความรู้ ความคิดเห็นก่อนและหลังอบรมและติดตามการจัดกิจกรรมของกลุ่มตัวอย่างแต่ละจังหวัดหลังการอบรม นำมาวิเคราะห์ด้วยการทดสอบหาค่า t,one way anova และค่าร้อยละ ผลการศึกษาพบว่า 1. กลุ่มตัวอย่างมีความรู้และความคิดเห็นเกี่ยวกับโรคเอดส์ก่อนและหลังการอบรมไม่แตกต่างกัน และพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจะมีความคิดเห็นเกี่ยวกับโรคเอดส์ดีกว่า ผู้ที่มีการศึกษาระดับประถมศึกษาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ( ? = 0.05) 2. กลุ่มตัวอย่างได้จัดอบรมให้กับสมาชิก อช. ในจังหวัดที่รับผิดชอบ (ครู ข.) เพื่อให้กำหนดรูปแบบและวิธีการต่าง ๆ ในการจัดกิจกรรมป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ โดยคัดเลือกอำเภอที่เป็นพื้นที่เสี่ยง 1 อำเภอ / จังหวัดเป็นพื้นที่ดำเนินการ จากนั้น อช. จังหวัด (ครู ข.) จัดกิจกรรมต่าง เช่น มุมความรู้ การจัดตั้งชมรมแกนนำ 1 ตำบล / อำเภอ โดยอาศัยสถานที่ที่มีอยู่แล้วเป็นที่ดำเนินการ เช่น ศูนย์สาธิตการเกษตร ที่ทำการ อบต. ร้านค้าในชุมชน รวมทั้งการให้สุขศึกษาประชาสัมพันธ์ในการประชุมของสมาชิก อช. เป็นประจำทุกเดือนและจัดกิจกรรมในวันเอดส์โลก รวมทั้งการจัดแสดงลิเกต้านภัยเอดส์ ทั้งนี้สำนักงานควบคุมโรคติดต่อเขต 3 ชลบุรี ได้ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ สื่อสุขศึกษาและจดหมายข่าว เป็นต้น ผลการดำเนินงานของ อช. ทุกระดับ ได้มีการร่วมมืออย่างแข็งขันและต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามควรจะมีการกระตุ้นติดตามหรืออบรมฟื้นฟูเป็นระยะ ๆ เป็นการสร้างศักยภาพของชุมชนเพื่อร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ให้ยั่งยืนถาวรต่อไป

Keywords: ความคิดเห็น, จิตวิทยา, เอดส์, โรคเอดส์, aids, hiv, psychology

ปีที่เผยแพร่/Year: 2542

Address: สำนักงานควบคุมโรคติดต่อเขต 3 ชลบุรี กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข

Code: 200420007094

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข

Download: -