ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สิริลักษณ์ สมพลกรัง

ชื่อเรื่อง/Title: สิ่งแวดล้อมในการทำงานกับความเหนื่อยล้าของพยาบาลโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 7,พ.ศ. 2542

รายละเอียด / Details:

บทนำ สิ่งแวดล้อม คือสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวขณะปฏิบัติงาน รวมถึงสภาวะการทำงาน การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ถูกสุขลักษณะ อาจส่งผลกระทบต่อผู้ปฏิบัติงานทั้งด้านสุขภาพและความปลอดภัย การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมตามหลักวิทยาการการจัดสภาพงานมีผลทำให้เกิดความเหนื่อยล้า วัตถุประสงค์ เพื่ออธิบายและเปรียบเทียบสิ่งแวดล้อมในการทำงานด้านเสียง แสงสว่าง อุณหภูมิและความเหนื่อยล้าของพยาบาล ในช่วงเวลา เช้า บ่าย ดึกและเปรียบเทียบความเหนื่อยล้าในสิ่งแวดล้อมที่ระดับแตกต่างกัน วิธีการศึกษา เป็นวิจัยพรรณนาเชิงเปรียบเทียบ กลุ่มตัวอย่างเลือกโดยวิธีสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน เป็นบุคลากรพยาบาลระดับปฏิบัติการในหอผู้ป่วยใน เป็นพยาบาลวิชาชีพ 89 ราย พยาบาลเทคนิค 78 ราย เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แบบสอบถามประเมินความเหนื่อยล้า ซาวเลเวลมิเตอร์ ลักซ์มิเตอร์ และเทอร์โมมิเตอร์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติแจกแจงความถี่ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน มัธยฐาน ครัสคาล-วอลลิส และแมนวิทนีย์ยู ผลการศึกษา พบว่าระดับเสียงอยู่ระหว่าง 51.1-103.4 เดซิเบล และระดับเสียงไม่แตกต่างกันทั้งในช่วงเช้า บ่าย ดึก ระดับแสงสว่างอยู่ระหว่าง 3.0-618.0 ลักซ์ โดยระดับแสงสว่างในช่วงเวลาเช้า สูงกว่าช่วงเวลาบ่ายและดึกที่ระดับนัยสำคัญ .05 ส่วนช่วงเวลาบ่ายและดึกไม่แตกต่างกัน อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 25.0-32.0 องศาเซลเซียส อุณหภูมิในช่วงเวลาเช้าและบ่ายสูงกว่าเวลาดึก ส่วนอุณหภูมิในช่วงเวลาเช้าและบ่ายไม่แตกต่างกัน และพบว่าพยาบาลวิชาชีพ มีความเหนื่อยล้าสูงสุดในช่วงเวลาดึก ส่วนพยาบาลเทคนิคเหนื่อยล้าสูงสุดในช่วงเวลาเช้า เป็นความเหนื่อยล้าระดับเล็กน้อยทั้งสองกลุ่ม และเมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ระดับแตกต่างกันพบว่ามีความเหนื่อยล้าไม่แตกต่างกัน วิจารย์และสรุป ระดับเสียงและแสงสว่าง มีบางช่วงและบางกิจกรรม มีระดับค่อนข้างสูงซึ่งผู้ปฏิบัติงานจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมนั้นเพียงช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ไม่ต่อเนื่องตลอด 8 ชั่วโมงของการปฏิบัติงาน ด้านอุณหภูมิอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยในการปฏิบัติงาน ส่วนความเหนื่อยล้านั้นอาจเนื่องจากว่ากลุ่มตัวอย่างอยู่ในสภาพที่พร้อมทั้งด้านร่างกายและจิตใจ หรือเกิดจากการที่ผู้วิจัยเก็บแบบสอบถามเสร็จก่อนสิ้นการปฏิบัติงาน ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามมีความตื่นตัวในขณะปฏิบัติงาน จึงทำให้มีความเหนื่อยล้าอยู่ในระดับเล็กน้อย

Keywords: ความเหนื่อยล้าของพยาบาล, แบบประเมินความเหนื่อยล้า, พยาบาล, สุขภาพจิต, เครียด, ความเครียด, stress, mental health

ปีที่เผยแพร่/Year: 2542

Address: โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข

Code: 200420007200

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข

Download: -