ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อัญชนา ภูโชคศิริ

ชื่อเรื่อง/Title: ประสิทธิผลการใช้กลุ่มช่วยเหลือตนเองในการแก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการของเด็กแรกเกิด-5 ปี

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 6 วันที่ 6-8 กันยายน 2543

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ โดยใช้รูปแบบการเก็บข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหา สาเหตุและประสิทธิผลการใช้กลุ่มช่วยเหลือตนเอง ในการแก้ไขปัญหาภาวะทุพโภชนาการ ในเขตตำบลห้วยยางและตำบลหนองโก อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น กลุ่มตัวอย่างคือเด็กแรกเกิด-5 ปี และมารดาหรือผู้ดูแลเด็กแรกเกิด-5 ปี ที่มีภาวะทุพโภชนาการ จำนวน 20 คน กลุ่มตัวอย่างเลือกแบบเจาะจง เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการจัดกลุ่มช่วยเหลือตนเอง จำนวน 3 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 1-2 สัปดาห์ แล้วติดตามประเมินผลโดยใช้แบบประเมินผลการเข้ากลุ่มของสมาชิก แบบประเมินผลผู้นำกลุ่ม และชั่งน้ำหนัดเด็กกลุ่มตัวอย่าง วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการทำกลุ่มช่วยเหลือตนเอง โดยกำหนดรหัสกำกับประโยคและใชโปรแกรม Ethnograph แล้วนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์และแปลความหมายข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยการหาค่าความถี่และหาค่าร้อยละ ผลการวิจัยสรุป จากการจัดกลุ่มช่วยเหลือตนเองของมารดาหรือผู้ดูแลเด็กแรกเกิด-5 ปี ปัญหาภาวะทุพโภชนาการเกิดจากมารดาไม่เอาใจใส่ในการดูแล เด็กไม่กินข้าวกินแต่นม ปัญหาการเจ็บป่วยของเด็กบางคนบอกว่าเกิดจากกรรมพันธ์และไม่ทราบสาเหตุ แนวทางการช่วยเหลือการขาดสารอาหารจากการจัดกลุ่มช่วยเหลือตนเอง กลุ่มได้เสนอแนวทางคือ ให้มารดาดูแลและเอาใจใส่เด็กเพิ่มขึ้น อาหารที่จัดให้เด็กก็ควรเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ การให้อาหารเด็กที่กินทีละน้อยควรให้จำนวนบ่อยครั้งขึ้น ดูแลให้เด็กกินขนมน้อยลง ส่วนเด็กที่ไม่ค่อยกินข้าวก็มีข้อเสนอว่า ให้ป้อนข้าวเด็กพร้อมกันหลาย ๆ คน โดยนัดเวลาป้อนข้าวพร้อมกัน หรือประกาศทางหอกระจายข่าวเมื่อถึงเวลาป้อนข้าว และกลุ่มตัวอย่างได้เล่าถึงประสบการณ์ในการให้อาหารเสริมก่อนเด็กอายุ 4 เดือน การดูแลเมื่อเด็กมีไข้จะซื้อยาลดไข้จาก อสม. และเช็ดตัวลดได้ การติดตามการเจริญเติบโตและพัฒนาการ จะสังเกตจากการเปรียบเทียบกับเด็กที่อยู่ในวัยเดียวกัน การประเมินผลหลังการเข้ากลุ่มและประเมินผู้นำกลุ่ม พบว่า สมาชิกคิดว่าการเข้ากลุ่มมีประโยชน์ทำให้มีความรู้และได้ข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลเด็กแรกเกิด-5 ปี มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 96.6 สมาชิกกลุ่มส่วนมากไม่เคยเข้าร่วมกลุ่มจากที่อื่น ร้อยละ 93.1 คิดว่าควรมีการจัดกลุ่มลักษณะนี้อีก จะแนะนำมารดาหรือผู้ดูแลเด็กแรกเกิด-5 ปี เข้ากลุ่มเหมือนตัวเอง และหากมีการจัดลักษณะนี้อีกจะเข้าร่วมกลุ่มคิดเป็นร้อยละ 100

Keywords: กลุ่มช่วยเหลือตนเอง, การพยาบาลจิตเวช, กลุ่มกิจกรรมบำบัด, กลุ่ม, psychiatric nursing, group therapy

ปีที่เผยแพร่/Year: 2543

Address: โรงพยาบาลกระนวน

Code: 200430008211

ISSN/ISBN: 974-293-644-7

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -