ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: จิรวัฒน์ มูลศาสตร์

ชื่อเรื่อง/Title: การจำแนกกลุ่มเสี่ยงต่อการใช้สารเสพติด : โครงการนำร่องในโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง จ.อุบลราชธานี

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 6 วันที่ 6-8 กันยายน 2543

รายละเอียด / Details:

การใช้สารเสพติดในกลุ่มนักเรียนเป็นปัญหาที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการใช้แอมเฟตามีนที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในการจัดการกับปัญหาดังกล่าว การป้องกันนับว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ นอกจากการพัฒนาโครงการให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่และสภาพสังคมแล้ว กลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ถูกต้อง ก็จะส่งผลถึงความสำเร็จของการดำเนินการในขณะที่ข้อมูลจากการศึกษาหลายแห่ง พบว่า วัยรุ่นที่มีการใช้สารเสพติดมักจะมีพฤติกรรมเกเร มีปัญหาในการเรียนหรือพฤติกรรมในโรงเรียนไม่เหมาะสมร่วมด้วย นอกจากนั้น บุหรี่ ก็มักเป็นสารเสพติดชนิดแรกที่ทดลองใช้และนำไปสู่การใช้สารชนิดอื่น ๆ ดังนั้น การศึกษาในครั้งนี้ เพื่อหาแนวทางในการจำแนกกลุ่มเสี่ยงต่อการใช้สารเสพติดในนักเรียนมัธยม และเป็นแนวทางในการพัฒนาการเฝ้าระวังปัญหาสารเสพติดในโรงเรียน รูปแบบการศึกษา : เป็นการวิจัยและพัฒนา ดำเนินการระหว่าง เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2541-มีนาคมพ.ศ. 2542 ในโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง ซึ่งถูกคัดเลือกโดยการเจาะจง (purposive selection) โดยการพัฒนาแบบบันทึกพฤติกรรมของนักเรียนในโรงเรียน ระบบการรายงาน และกำหนดเกณฑ์มาตรฐานในการจำแนกกลุ่มเสี่ยง (ประกอบด้วย การมาสาย,ขาดเรียนเป็นรายชั่งโมง,ขาดเรียนทั้งวัน,แต่งกายผิดระเบียบ/ไม่เหมาะสม,การสูบบุหรี่,การส่งงาน/การมีส่วนร่วมในชั้นเรียน) หลังจากนั้นนำแบบบันทึกดังกล่าวใช้กับนักเรียนทุกคนในโรงเรียน โดยอาจารย์ประจำชั้นและอาจารย์ประจำวิชาเป็นผู้ลงบันทึก ข้อมูลจะนำส่งฝ่ายปกครอง และพิจารณาตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เมื่อจบภาคเรียนที่ 1 ของปี การประเมินผล โดยการใช้แบบสอบถาม (self-report) ในนักเรียนกลุ่มที่ถูกคัดกรอง เน้นว่าเป็นความลับและไม่ต้องระบุชื่อ เพื่อสำรวจการใช้สารเสพติด (รวมทั้งบุหรี่และเหล้า) และจัดการสนทนากลุ่ม สำหรับอาจารย์ประจำชั้น/ประจำวิชา เพื่อดูความเป็นไปได้ และอุปสรรค ปัญหาในการดำเนินงาน ผลการศึกษา จากจำนวนนักเรียนทั้งหมด 2,871 คน (ชาย 1,319 คน , หญิง 1,552 คน) จำแนกกลุ่มเสี่ยงได้ 237 คน (ชาย 188 , หญิง 49 คน) สาเหตุที่ถูกคัดกรอง คือ ปัญหาพฤติกรรม ร้อยละ 637 , การเรียน ร้อยละ 10.5 , สูบบุหรี่ ร้อยละ 0.8 , มากกว่า1 สาเหตุ ร้อยละ 119 , อื่น ๆ ร้อยละ 5.9 , ข้อมูลจากแบบสอบถาม เก็บข้อมูลได้ 162 คน (ลาออก 62 คน , ขาดเรียน 13 คน) พบว่าในจำนวนนี้ มีผู้เคยใช้สารเสพติด คือ แอลกอฮอล์ ร้อยละ 74.7 , บุหรี่ ร้อยละ 50.6 , แอมเฟตามีน ร้อยละ 14.8 , ยานอนหลับ ร้อยละ 6.8 , กัญชา ร้อยละ 4.3 , สารระเหย ร้อยละ1.9 และยังคงมีการใช้อยู่ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ดังนี้ แอลกอฮอล์ ร้อยละ41.4 , บุหรี่ ร้อยละ 29 , แอมเฟตามีน ร้อยละ 6.2 , ยานอนหลับ ร้อยละ 2.4 , สารระเหย ร้อยละ 1.2 , กัญชา ร้อยละ 0 ในส่วนของอาจารย์ เนื่องจากเป็นนโยบายของโรงเรียน การรายงานข้อมูลจึงมีความครบถ้วน อย่างไรก็ตามในแง่ของความถูกต้อง พบว่ายังมีปัญหาในการบันทึกและการพิจารณาตามเกณฑ์ วิจารณ์และสรุป เมื่อพิจารณาข้อมูลจากแบบสอบถาม ซึ่งมีความชุกค่อนข้างสูง จึงมีความเป็นไปได้ที่จะนำแนวทางดังกล่าวไปใช้ นอกจากจะเป็นการจำแนกกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนในการดำเนินงานป้องกันการใช้สารเสพติดในโรงเรียนแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้บุคลากรในโรงเรียนได้มีส่วนร่วม เห็นความสำคัญของปัญหาและสนใจต่อพฤติกรรมของนักเรียนมากขึ้น ขณะที่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างต่ำ และสามารถปรับเข้ากับระบบปกติของโรงเรียนได้ อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของการดำเนินงานและการศึกษาในครั้งนี้ ปัจจัยที่สำคัญ คือ นโยบายของผู้บริหารโรงเรียนและความร่วมมือของอาจารย์ ส่วนข้อด้อยที่สำคัญของการศึกษา คือ ไม่มีการสุ่มตัวอย่างจากนักเรียนที่ไม่ถูกคัดกรองเพื่อศึกษาเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ถูกคัดกรอง และเกณฑ์ที่ใช้ในการคัดกรองบางข้อยังมีความยุ่งยาก ขาดความชัดเจนในทางปฏิบัติ

Keywords: สารเสพติด, ยาเสพติด, ยาบ้า, แอมเฟตามีน, นักเรียน, กลุ่มเสี่ยง, drug addict, abuse, amphetamine

ปีที่เผยแพร่/Year: 2543

Address: กลุ่มงานจิตเวช โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี

Code: 200430008212

ISSN/ISBN: 974-293-644-7

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -